1.2แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์

ของ

มาร์คซ์ และ เองเกิลส์

คำนำฉบับภาษาอังกฤษปี 1888

“แถลงการณ์ฯ” ได้ประกาศออกไปในฐานะเป็นหลักนโยบายของสันนิบาตชาวคอมมิวนิสต์ ซึ่งเมื่อแรกเริ่มเป็นสมาคมของกรรมาชีพเยอรมันโดยเฉพาะ ต่อมาเป็นสมาคมของกรรมาชีพสากล และตามเงื่อนไขทางการเมืองในภาคพื้นยุโรปก่อนปี 1847 นั้นย่อมจะต้องเป็นองค์การจัดตั้งของกรรมาชีพที่เป็นสมาคมลับ ที่ประชุมสมัชชาผู้แทนสันนิบาต ณ กรุงลอนดอนเมื่อเดือน พฤศจิกายน 1847 ได้มอบหมายให้มาร์คซ์ และเองเกิลส์ร่างหลักนโยบายของพรรคที่มีความครบถ้วนทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเพื่อประกาศออกไป ต้นฉบับเขียนเสร็จเป็นภาษาเยอรมันเมื่อเดือนมกราคม 1848 และได้ส่งไปพิมพ์ที่ลอนดอนก่อนหน้าการปฏิวัติฝรั่งเศสวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพียงไม่กี่สัปดาห์ ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสได้จัดพิมพ์ในปารีสก่อนการลุกขึ้นสู้เดือน มิถุนายน 1848 ไม่นานนัก ฉบับแปลภาษาอังกฤษฉบับแรกลงพิมพ์ในนิตยสาร " เดอะเร็ด รีปับลิกัน " ของยอร์ช จูเลียน ฮาร์นี ในลอนดอนปี 1850 แปลโดยนางสาวเฮเลน แมคฟาร์เลน ขณะเดียวกันก็ได้จัดพิมพ์ฉบับแปลภาษาเดนมาร์คและภาษาโปแลนด์ด้วย

ความพ่ายแพ้ของการลุกขึ้นสู้เดือนมิถุนายนในปารีสปี 1848 ซึ่งเป็นการรณรงค์ใหญ่ครั้งแรกระหว่างชนชั้นกรรมาชีพ กับชนชั้นนายทุนได้ผลักความเรียกร้องต้องการทางสังคม และทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพยุโรปไปไว้ข้างหลังเป็นการชั่วคราว นับแต่นั้นมาการต่อสู้แย่งชิงอำนาจปกครองก็เหมือนกับเมื่อก่อนการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ คือ ดำเนินไปในระหว่างกลุ่มต่างๆของชนชั้นผู้มีทุนเท่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพถูกบีบให้จำกัดอยู่แค่การช่วงชิงเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบางอย่าง และใช้จุดยืนของพวกปีกซ้ายสุดของฝ่ายหัวรุนแรงชนชั้นนายทุนด้วย การเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพทั้งปวงที่เป็นอิสระมีชีวิตชีวาในเวลาต่อมา ล้วนถูกปราบปรามอย่างไร้ความปรานี เช่น ตำรวจปรัสเซียได้พบคณะกรรมการกลางของสันนิบาตชาวคอมมิวนิสต์ซึ่งเวลานั้นตั้งอยู่ที่โคโลน กรรมการกลางจำนวนหนึ่งถูกจับกุมและหลังจากถูกคุมขังเป็นเวลา 18 เดือนแล้วก็ถูกส่งขึ้นศาลพิพากษาเมื่อเดือนตุลาคม 1852 การพิจารณา " คดีชาวพรรคคอมมิวนิสต์โคโลน " อันมีชื่อครั้งนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน ในบรรดาจำเลยเหล่านี้มี 7 คน ที่ถูกตัดสินจำคุกในป้อมมีกำหนดโทษต่างกันตั้งแต่ 3 ปี ถึง 6 ปี หลังจากประกาศคำพิพากษาแล้ว สมาชิกที่เหลืออยู่ก็ได้ยุบเลิกสันนิบาตอย่างเป็นทางการ ส่วน " แถลงการณ์ ฯ" นั้นดูเหมือนจะเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องถูกลืมไปเสียตั้งแต่นั้นมา

เมื่อชนชั้นกรรมาชีพยุโรปได้รวบรวมกำลังกันขึ้นใหม่ จนพอที่จะก่อการรุกโจมตีชนชั้นปกครองอีกครั้งนั้น สมาคมกรรมาชีพสากลก็ได้เกิดขึ้น แต่วัตถุประสงค์ที่แจ่มชัดในการตั้งสมาคมนี้ก็เพื่อที่จะให้ชนชั้นกรรมาชีพที่กำลังสู้รบของยุโรปและอเมริกาทั้งหมดสามัคคีอยู่ในองค์รวมเดียวกัน ดังนั้นสมาคมนี้จึงไม่อาจประกาศหลักการที่วางไว้ใน “แถลงการณ์ฯ” ในทันทีทันใด สากลฯ ควรมีหลักนโยบายอันกว้างขวางเพียงพอเพื่อให้สหบาลกรรมกรอังกฤษ พวกปรูดองในฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิตาลี และสเปญ ตลอดจนพวกลาส์ซาลส์ [1] ในเยอรมนีสามารถรับได้

มาร์คซ์ผู้ซึ่งได้ร่างหลักนโยบายอันเป็นที่พอใจของพรรคทั้งปวงนี้ เวลานั้นได้ฝากความหวังอันเต็มเปี่ยมไว้กับการพัฒนาทางจิตใจของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งย่อมจะต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการร่วมกันและการอภิปรายร่วมกัน เหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆในระหว่างการต่อสู้คัดค้านทุน ซึ่งย่อมจะแพ้มากกว่าเป็นผู้ชนะย่อมทำให้คนทั้งหลายรับรู้ว่ายาขนานที่รักษาโรคต่างๆได้สารพัดอันเป็นสูตรสำเร็จที่นิยมของพวกเขานั้นใช้ไม่ได้เลย ทั้งจะทำให้พวกเขาเข้าใจเงื่อนไขอันแท้จริงแห่งการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น

มาร์คซ์ถูกต้องขณะที่สากลฯ ยุบเลิกในปี 1874 นั้น กรรมาชีพได้แตกต่างไปจากเมื่อครั้งตั้งสากลฯ ในปี 1864 อย่างสิ้นเชิง ลัทธิปรูดองในฝรั่งเศสและลัทธิลาส์ซาลส์ในเยอรมันนีใกล้จะสิ้นลมอยู่แล้ว แม้กระทั่งสหบาลกรรมกรอังกฤษที่อนุรักษ์นิยม ซึ่งส่วนมากได้ตัดความสัมพันธ์กับสากลฯมานานแล้วนั้น ก็ก้าวขึ้นทีละขั้นๆ จนกระทั่งประธานของพวกเขาได้แถลงในนามของสหบาลเหล่านี้ในการประชุมสมัชชาผู้แทน ณ สวอนซี ปีที่แล้วว่า "กล่าวสำหรับเรา สังคมนิยมในภาคพื้นยุโรปไม่น่ากลัวอีกแล้ว " จริงทีเดียวหลักการของ “แถลงการณ์ฯ ” ได้เผยแพร่กว้างขวางมากในหมู่กรรมาชีพประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ “แถลงการณ์ฯ” ก็ออกมาสู่หน้าเวทีอีกครั้งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ปี 1850 เป็นต้นมา ฉบับภาษาเยอรมันฉบับแรก ได้พิมพ์ซ้ำหลายครั้งในสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และอเมริกา ปี 1872 มีผู้แปลเป็นภาษษอังกฤษในนิวยอร์ค และลงพิมพ์ในนิตยสาร " วูดฮัลแอนด์ คลาฟลินส์วีคลี่ " ที่นั่น ต่อจากนั้นได้มีผู้แปลจากฉบับภาษาอังกฤษนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส ลงพิมพ์ในนิตยสาร " เลอ โซเซียลิสต์ " ในนิวยอร์ค ต่อมาในอเมริกาได้ปรากฏฉบับแปลภาษาอังกฤษที่บิดเบนไปบ้างอย่างน้อยก็อีก 2 ฉบับ และในสองฉบับนี้ ฉบับหนึ่งยังเคยพิมพ์ซ้ำในอังกฤษ ฉบับภาษารัสเซียฉบับแรกซึ่งแปลโดยบาคูนินได้พิมพ์ที่โรงพิมพ์ "คอโลโคล" ของเกร์เชนในเจนีวาประมาณปี 1863 ฉบับแปลภาษารัสเซียฉบับที่ 2 ที่แปลโดย เวรจาซูลิช ผู้กล้าหาญ ก็ได้จัดพิมพ์ที่เจนีวาเช่นเดียวกันเมื่อปี 1882 ฉบับแปลภาษาเดนมาร์คฉบับใหม่ ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มในชุดสังคมประชาธิปไตย " ที่โคเปนเฮเกน ปี 1885 ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส ฉบับใหม่ตีพิมพ์ในนิตยสาร

" เลอ โซเซียลิสต์" ในปารีส ปี 1886 และ ฉบับหลังนี้ได้มีผู้แปลเป็นภาษาสเปน จัดพิมพ์ในแมดริด ปี 1886 ส่วนฉบับภาษาเยอรมันที่พิมพ์ใหม่นั้นมีจำนวน รวมแล้วอย่างน้อยก็มี 12 ฉบับ ฉบับแปลภาษาอาร์เมเนีย อันที่จริงควรจะพิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อไม่กี่เดือนก่อนในคอนสแตนติโนเปิล แต่แล้วก็ไม่ได้พิมพ์ออกมามีผู้บอกข้าพเจ้าว่าเพราะผู้จัดพิมพ์กลัวการระบุชื่อของมาร์คซ์ในหน้าหนังสือและผู้แปลก็ปฏิเสธที่จะพิมพ์ “แถลงการณ์ฯ” โดยถือเป็นงานเขียนของตนเกี่ยวกับฉบับแปลภาษาอื่นๆ ที่จัดพิมพ์ในภายหลังแม้ว่าข้าพเจ้าเคยได้ฟังแต่ก็ไม่ได้เห็นกับตาเอง ฉะนั้นประวัติของ “แถลงการณ์ฯ” จึงเป็นการสะท้อนประวัติการเคลื่อนไหวของกรรมาชีพสมัยใหม่ในระดับสูง เวลานี้ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า “แถลงการณ์ฯ” เป็นนิพนธ์ที่เผยแพร่กว้างขวางที่สุดและมีลักษณะสากลที่สุด ในบรรดาเอกสารสากลนิยมทั้งหมดและเป็นหลักนโยบายร่วมกัน เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่กรรมาชีพเรือนแสนเรือนล้าน ตั้งแต่ไซบีเรียไปจนถึงแคลิฟอร์เนีย

แต่ว่าขณะที่เราเขียน “ แถลงการณ์ฯ” นี้ เราจะเรียกแถลงการณ์นี้ว่า แถลงการณ์ สังคมนิยมไม่ได้ ในปี 1847 ที่เรียกกันว่าชาวสังคมนิยมนั้น ด้านหนึ่งหมายถึงพวกที่เลื่อมใสทฤษฎีเพ้อฝันต่างๆ ซึ่งก็คือ พวกโอเวนในอังกฤษและพวกฟูริแอร์ในฝรั่งเศส ทั้งสองพวกนี้ได้กลายเป็นกลุ่มเล็กๆไปแล้วและค่อยๆ ก้าวไปสู่ความพินาศ อีกด้านหนึ่งหมายถึงหมอสังคมถ่อยๆ ชนิดต่างๆ ซึ่งล้วนแต่รับปากว่าจะใช้วิธีปะโน่นปิดนี่หน่อย มาขจัดปัดเป่าโรคภัยทั้งปวงของสังคมโดยไม่ให้เสียหายแก่ทุนและผลกำไรแม้แต่น้อย คนสองประเภทนี้ล้วนยืนอยู่นอกการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพและยอมไปหาความสนันสนุนจากชนชั้น "ที่ได้รับการศึกษา" มากกว่า ส่วนในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพในเวลานั้นพวกที่เชื่อมั่นว่าการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางการเมืองล้วนๆไม่เพียงพอเสียแล้ว และเห็นว่าต้องดัดแปลงสังคมโดยรากฐาน พวกเขาได้เรียกตัวเขาเองว่าชาวคอมมิวนิสต์ ลัทธิคอมมิวนิสต์ชนิดนี้เป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ออกจะหยาบอยู่มาก ยังขาดการขัดเกลาและเกิดจากสัญชาตญาณโดยแท้ แต่มันมิได้แตะต้องจุดที่สำคัญที่สุด และได้เข้มแข็งขึ้นในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพจนพอแก่การก่อรูปขึ้นเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์เพ้อฝันของคาเบต์ในฝรั่งเศสและของไวท์ลิงในเยอรมนี นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าในปี 1847 สังคมนิยมเป็นการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง ส่วนลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพ เวลานั้นสังคมนิยมอย่างน้อยก็เป็น “ที่น่านับถือ” ในภาคพื้นยุโรป แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นกลับตรงกันข้าม เมื่อเราได้มีความคิดเห็นกันมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่า

การปลดแอกของชนชั้นกรรมาชีพจักต้องเป็นเรื่องของชนชั้นกรรมาชีพเองเท่านั้น” ดังนั้นเราจึงมิได้สงสัยแม้แต่น้อยว่า ในระหว่างสองชื่อนี้ควรเลือกเอาชื่อใดดี ยิ่งกว่านั้นในเวลาต่อมาเราก็ไม่เคยคิดเลยว่าจะทิ้งชื่อนี้ด้วย

แม้ว่า “แถลงการณ์ฯ” จะเป็นงานเขียนร่วมกันของเราสองคนก็ตาม แต่ถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็เห็นควรจะต้องชี้ว่า หลักการพื้นฐานที่ประกอบขึ้นเป็นแก่นของ “แถลงการณ์ฯ” นั้น เป็นของมาร์คซ์แต่ผู้เดียว หลักการนี้ก็คือแบบวิธีการผลิตทางเศรษฐกิจ กับแบบวิธีการแลกเปลี่ยนที่สำคัญและโครงสร้างของสังคมที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จากสิ่งดังกล่าวในยุคประวัติศาสตร์แต่ละยุคนั้นเป็นรากฐานการก่อตัวของประวัติศาสตร์ทางการเมืองและจิตใจของยุคนั้นๆ และมีแต่เริ่มจากรากฐานนี้เท่านั้นจึงจะสามารถอธิบายประวัติศาสตร์นี้ได้ ด้วยเหตุนี้ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของมนุษยชาติ (นับตั้งแต่การสลายตัวของสังคมเผ่าชนบุพกาลซึ่งที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันเป็นต้นมา) จึงล้วนเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งก็คือประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้นขูดรีดกับชนชั้นที่ถูกขูดรีด ระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นที่ถูกกดขี่ ประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางชนชั้นนี้ได้รวมขั้นแห่งการพัฒนามากมายหลายขั้น บัดนี้ได้ถึงขั้นที่ว่าถ้าชนชั้นที่ถูกขูดรีดและถูกกดขี่(ชนชั้นกรรมาชีพ) ไม่ทำให้สังคมทั้งสังคมหลุดพ้นจากการขูดรีดและกดขี่ไม่ว่าชนิดใด ตลอดจนการแบ่งชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้นพร้อมกันไปให้แล้วเสร็จในรวดเดียวแล้ว ก็จะไม่สามารถปลดแอกตนเองจากการควบคุมของชนชั้นที่ขูดรีดและปกครอง( ชนชั้นนายทุน ) ตนได้

ความคิดนี้ตามความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะมีคุณูปการแก่วิชาประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับที่ทฤษฎีของดาร์วินได้มีคุณูปการแก่ชีววิทยา ตั้งแต่ก่อนหน้าปี 1845 หลายปี เราสองคนก็ได้ค่อยๆเข้าใกล้กับความคิดนี้ไปถึงขั้นไหน จะเห็นได้อย่างกระจ่างแจ้งจากหนังสือของข้าพเจ้าเรื่อง “ ภาวการณ์ของชนชั้นกรรมาชีพประทศอังกฤษ ” [2] แต่ครั้นถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1845 ขณะ

ที่ข้าพเจ้าได้พบกับมาร์คซ์อีกครั้งหนึ่งในกรุงบรัสเซล เขาได้จัดความคิดนี้เป็นรูปออกมาแล้ว และยังได้อธิบายแก่ข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำอันแจ่มแจ้งเกือบจะเหมือนกับที่ข้าพเจ้าได้บรรยายไว้ข้างต้น บัดนี้ข้าพเจ้าขอคัดข้อความตอนหนึ่งจากคำนำที่เราร่วมกันเขียนในฉบับภาษาเยอรมันปี 1872 ดังต่อไปนี้

“ไม่ว่าสภาพในช่วงระยะ 25 ปีมานี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายสักเพียงใดก็ตาม หลักการพื้นฐานทั่วไปที่วางไว้ใน “แถลงการณ์ฯ” นี้กล่าวโดยทั่วไปแล้ว จนบัดนี้ก็ยังคงถูกต้องอย่างสิ้นเชิง อันที่จริงบางแห่งอาจปรับปรุงแก้ไขได้บ้าง การนำพื้นฐานเหล่านี้ไปใช้ในทางปฏิบัตินั้นก็ดังที่ “แถลงการณ์ฯ” ได้กล่าวไว้คือ ในทุกแห่งและทุกกาละล้วนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้มาตรการปฏิวัติเหล่านั้นที่เสนอไว้ในต้อนท้ายของบทที่ 2 จึงไม่มีความหมายเป็นพิเศษแต่อย่างใด ปัจจุบันข้อความตอนนี้ในหลายๆ ด้านควรเขียนให้ต่างออกไป เนื่องด้วยตั้งแต่ปี 1848 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ขยายตัวไปอย่างมาก องค์การจัดตั้งของชนชั้นกรรมาชีพก็ได้ปรับปรุงและขยายตัวไปด้วย เนื่องจากก่อนอื่นได้ความจัดเจนในทางปฏิบัติจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ และต่อมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจัดเจนในทางปฏิบัติจากคอมมูนปารีส ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชนชั้นกรรมาชีพกุมอำนาจรัฐไว้ได้นานถึง 2 เดือน ฉะนั้นเวลานี้บางแห่งในหลักนโยบายนี้จึงได้พ้นสมัยไปแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอมมูนฯ ได้พิสูจน์ว่า " ชนชั้นกรรมาชีพจะยึดกุมกลไกรัฐสำเร็จรูปอย่างง่ายๆ และใช้มันมาบรรลุซึ่งจุดมุ่งหมายของตนนั้นไม่ได้“ (ดู “สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส แถลงการณ์ของคณะกรรมการทั่วไปแห่งกรรมาชีพสากล” ลอนดอน สำนักพิมพ์ ทรูลัฟ ปี 1871 หน้า 15 ในนั้นได้ขยายความคิดนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น) ประการต่อมาเป็นที่แจ่มชัดอย่างยิ่งเช่นกันว่า ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาท่าทีของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีต่อพรรคฝ่ายค้านต่าง ๆ (บทที่ ๔) แม้ว่าโดยหลักใหญ่แล้วเวลานี้ยังถูกต้องอยู่ก็ตาม แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง และบรรดาพรรคการเมืองที่ยกขึ้นมากล่าวในเวลานั้น ส่วนใหญ่ก็ได้ถูกวิถีแห่งการพัฒนาของประวัติศาสตร์กวาดไปจนหมดสิ้นแล้ว ฉะนั้นความเห็นเหล่านั้นในทางปฏิบัติถึงอย่างไรก็ได้พ้นสมัยไปแล้ว

“แต่” แถลงการณ์ ฯ “เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ที่จะทำการแก้ไขอีก” ฉบับแปลนี้แปลโดยนายแซมมวล มัวร์ ซึ่งเป็นผู้แปลหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ของมาร์คซ์เป็นส่วนใหญ่ ข้าพเจ้าได้ตรวจทานคำแปลกับเขามาแล้วครั้งหนึ่ง และข้าพเจ้ายังได้เพิ่มเติมหมายเหตุช่วยความเข้าใจบางอย่างที่มีลักษณะประวัติศาสตร์ด้วย

 

เอฟ . เองเกิลส์

ลอนดอน 30 มกราคม 1888

 


* * *

1. ลาส์ซาลล์เองเวลามาสัมพันธ์กับเราเขามักจะถือว่าตัวเขาเป็นศิษย์ของมาร์คซ์เสมอ และในฐานะที่เป็นศิษย์ของมาร์คซ์เขายืนอยู่บนจุดยืนของ “แถลงการณ์ฯ” แต่ในการโฆษณาเปิดเผยของเขาระหว่างปี 1862-1864 กลับมิได้เรียกร้องเกินไปกว่าความต้องการที่จะตั้งสหกรณ์การผลิต โดยอาศัยเงินกู้จากรัฐเลย (หมายเหตุโดยเองเกิลส์ )

2. The Condition of the Working Class in England in 1884, By Frederick Engels. Translated by Florence K. Wischnewetzky, New York, Lovell-London, W. Reeves, 1888 ( หมายเหตุโดยเองเกิลส์ )