โดย เลนิน 1917
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคำสอนของมาร์คซ์ในขณะนี้ ตลอดเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์นับว่าได้เกิดขึ้นกับคำสอนของนักคิดปฏิวัติและผู้นำชนชั้นผู้ถูกกดขี่ที่ได้ต่อสู้เพื่อปลดแอกมาแล้ว ในเวลาที่บรรดานักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่มีชีวิตอยู่ ชนชั้นผู้กดขี่พากันจองล้างจองผลาญพวกเขามิรู้หยุดหย่อน ต้อนรับคำสอนของพวกเขาด้วยความมุ่งร้ายอย่างป่าเถื่อน และความจงเกลียดจงชังอย่างเข้ากระดูกดำ พร้อมกับรณรงค์ใส่ร้ายป้ายสีอย่างไร้หิริโอตัปปะ ทว่าพอพวกเขาตายไปกลับบังเกิดความพยายามที่จะเนรมิตพวกเขาให้เป็นรูปเคารพที่ไร้พิษสง สวมคราบนักบุญให้กับพวกเขา แวดล้อมชื่อของพวกเขาด้วยรัศมีอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็น “เครื่องประโลมใจ” ของชนชั้นผู้ถูกกดขี่และเพื่อตบตาหลอกลวงชนชั้นดังกล่าว ขณะเดียวกันก็กลับบั่นทอนสารัตถะแห่งคำสอนปฏิวัติ ทำให้คมปฏิวัติแห่งคำสอนบิ่นทื่อ และบิดผันคำสอนให้แลดูเป็นสิ่งเลวทราม ในปัจจุบันชนชั้นนายทุนและพวกฉวยโอกาสในขบวนการชนชั้นกรรมกรต่างก็เห็นพ้องต้องกันกับ“การแก้ไข“ลัทธิมาร์คซ์ดังกล่าวมานี้ พวกเขาพากันละทิ้ง ทำลาย และบิดเบือนด้านปฏิวัติแห่งคำสอน หรือวิญญาณปฏิวัติแห่งคำสอน พวกเขาเทิดทูนสรรเสริญสิ่งที่เป็นหรือดูเหมือนเป็นที่ยอมรับของชนชั้นนายทุน แม้พวกคลั่งชาติสังคม(social-chauvinists)ขณะนี้ก็เป็น “นักลัทธิมาร์คซ์” (ไม่ต้องหัวเราะ!) กระทั่งนักปราชญ์นายทุนเยอรมัน ซึ่งเมื่อวานนี้ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำลายล้างลัทธิมาร์คซ์ ต่างก็พูดถึงมาร์คซ์ “ชนชาติเยอรมัน” ซึ่งพวกเขาเยินยอว่าเป็นผู้ให้การศึกษาแก่สหภาพกรรมกรจนได้รับการจัดตั้งอย่างวิเศษเพื่อจุดมุ่งในการทำสงครามปล้นสดมภ์!
ในสภาพการณ์เช่นนั้น เมื่อคำนึงถึงการบิดเบือนลัทธิมาร์คซ์อย่างกว้างขวางดังไม่ปรากฏมาก่อน งานหลักของเราจึงได้แก่การวางรากสิ่งที่มาร์คซ์สอนเอาไว้อย่างแท้จริงเกี่ยวกับรัฐเสียใหม่ เพื่อการนี้จำเป็นต้องอ้างข้อความยืดยาวจากบทนิพนธ์ของมาร์คซ์และเองเกิลส์ อันที่จริงการยกข้อความยาวๆ ขึ้นมาอ้างอาจ ทำให้หนังสือดูรุ่มร่ามหรืออาจไม่ทำให้หนังสือน่าอ่านนัก ทว่าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ข้อความทั้งหมดหรือข้อความที่สำคัญที่สุดทั้งหมดจากบทนิพนธ์ของมาร์คซ์และเองเกิลส์ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐ จะต้องนำมาอ้างอย่างมิให้ตกหล่น ให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อว่าผู้อ่านจะได้สร้างแนวคิดอันเป็นอิสระเกี่ยวกับทัศนะโดย ประมวลของผู้ก่อตั้งลัทธิมาร์คซ์ (ลัทธิสังคมนิยมวิทยาศาสตร์) รวมทั้งพัฒนาการของทัศนะเหล่านี้ และเพื่อว่าการบิดเบือนทัศนะเหล่านี้โดย “ลัทธิเคาท์สกี้” ที่แพร่หลายอยู่ขณะนี้จะได้รับการพิสูจน์หักล้างอย่างมีหลักมีเกณฑ์ และได้รับ การตีแผ่ออกมาอย่างชัดแจ้ง
ขอให้เราเริ่มต้นกันด้วยบทนิพนธ์ของเองเกิลส์ที่แพร่หลายที่สุดชื่อ กำเนิดครอบครัว กรรมสิทธิ์เอกชนและรัฐ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 ในสตุดการ์ด ปี 1894 เราจำต้องแปลข้อความที่ยกมาอ้างจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน เพราะฉบับแปลเป็นภาษารัสเซีย แม้จะมีอยู่หลายสำนวน แต่ส่วนมากไม่สู้สมบูรณ์ หรือไม่ก็แปลได้ไม่ใคร่สมใจนัก
ในการสรุปบทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของเองเกิลส์กล่าวว่า:
“เพราะฉนั้น รัฐจึงมิใช่อำนาจที่ครอบจากภายนอก มิใช่ ‘สภาพเป็นจริงของความคิดจริยธรรม’ มิใช่ ‘ภาพและสภาพเป็นจริงของเหตุผล’ ดังที่เฮเกิลยึดถือ ตรงข้ามรัฐคือผลผลิตของสังคม ณ ขั้นใดขั้นหนึ่งแห่งพัฒนาการ (การดำรงอยู่ของรัฐ) เป็นการยอมรับว่าสังคมนี้เวียนว่ายอยู่ในความขัดแย้งกับตนเองอย่างไม่อาจแก้ได้, ว่าสังคมนี้ได้แตกแยกออกเป็นปฏิปักษ์อันไม่อาจออมชอมกันได้, ซึ่งสังคมไร้อำนาจที่จะขจัดปัดเป่า แต่เพื่อว่าความเป็นปฏิปักษ์เหล่านี้ และชนชั้นทั้งหลายที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขัดกัน จะไม่เผาผลาญตัวเองและสังคมในการต่อสู้ที่ไร้ประโยชน์ จึงจำเป็นต้องมีอำนาจหนึ่งสถิตอยู่เหนือสังคม เพื่อทำหน้าที่บรรเทาความขัดแย้ง, ทำหน้าที่จำกัดความขัดแย้งให้อยู่ภายในวงของ ‘ระเบียบ’ และอำนาจนี้เอง ซึ่งถือกำเนิดออกมาจากสังคม แต่วางตัวอยู่เหนือสังคม และทำตัวเองให้ห่างเหินแปลกหน้าจากสังคมทุกขณะ คือรัฐ” (หน้า 177-178 ฉบับภาษาเยอรมันพิมพ์ครั้งที่ 6)
นี่แสดงให้เห็นอย่าชัดแจ้งสมบูรณ์ถึงความคิดมูลฐานของลัทธิมาร์คซ์เกี่ยวกับปัญหาบทบาททางประวัติศาสตร์และความหมายของรัฐ รัฐคือผลผลิตและการปรากฏตัวของ ความออมชอมกันไม่ได้ ซึ่งความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น รัฐเกิดขึ้นในเมื่อในที่และในขอบเขตที่ความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นไม่อาจออมชอม กันได้ทางภาวะวิสัย และในทางกลับกันการดำรงอยู่ของรัฐก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นไม่มีทางออมชอมกันได้เป็นอันขาด
ประเด็นพื้นฐานตรงนี้แหละที่การบิดเบือนลัทธิมาร์คซ์ ซึ่งดำเนินไปตามสองแนวใหญ่ได้เริ่มขึ้น
ด้านหนึ่ง พวกนักทฤษฏีนายทุนโดยเฉพาะนักทฤษฎีนายทุนน้อย(เป็นพวกที่จำต้องยอมรับว่ารัฐดำรงอยู่แต่ในที่ที่มีความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นและการ ต่อสู้ทางชนชั้น เพราะน้ำหนักแห่งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจโต้แย้งได้) ได้ “แก้” คำสอนของมาร์คซ์ไปในทำนองที่ดูเหมือนว่า รัฐคือองค์กรสำหรับการ ออมชอมชนชั้น แต่ตามทัศนะของมาร์คซ์นั้น รัฐจะเกิดขึ้นไม่ได้หรือไม่อาจธำรงตนไว้ได้ หากอยู่ในวิสัยที่จะออมชอมชนชั้นกันได้ ตามทัศนะของพวกอาจารย์และนักวิจารณ์การเมืองนายทุนน้อยผู้หยาบเขลา พวกเขามักอ้างมาร์คซ์ อย่างนุ่มนวลอยู่เนืองๆ เพื่อยืนยันทัศนะนี้ - นั้นปรากฏว่ารัฐทำหน้าที่ ออมชอมชนชั้น แต่ตามทัศนะของมาร์คซ์รัฐคือองค์กรสำหรับปกครองชนชั้น องค์กรสำหรับกดขี่ชนชั้นหนึ่งโดยชนชั้นหนึ่ง รัฐเป็นผู้สร้าง “ระเบียบ” ซึ่งสร้าง ความชอบธรรมและสร้างความถาวรให้กับการกดขี่ดังกล่าวด้วยการบรรเทา ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ในความเห็นของนักการเมืองนายทุนน้อยระเบียบหมายถึงการออมชอมชนชั้น มิใช่หมายถึงการกดขี่ชนชั้นหนึ่งโดยชนชั้นหนึ่ง ทั้งการบรรเทาความขัดแย้งก็หมายถึงการออมชอมชนชั้น มิใช่หมายถึงการริดรอนชนชั้นผู้ถูกกดขี่ให้ปลอดจากเครื่องมือและวิธีการต่อสู้เพื่อโค่นล้มเหล่านักกดขี่
ยกตัวอย่างในการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 เมื่อปัญหาความสำคัญ และบทบาทของรัฐลอยเด่นขึ้นเป็นปัญหาทางปฏิบัติที่ต้องการให้คนทั่วไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปโดยทันทีนั้น พวกสมาชิกพรรคปฏิวัติสังคมและพวก เมนเชวิค กลับด่ำดื่มอย่างไม่ลืมหูกับทฤษฎีที่ว่า “รัฐ” “ออมชอม” ชนชั้น มติพรรคนี้ล้วนชุ่มเอิบด้วยทฤษฎี “การออมชอม” ของนักนายทุนน้อยอันหยาบเขลานี้ ส่วนว่ารัฐคือองค์กรปกครองของชนชั้นหนึ่งซึ่งไม่สามารถออมชอมกับชนชั้นที่อยู่ตรงข้ามได้ เป็นสิ่งที่พวกประชาธิปัตย์นายทุนน้อยไม่อาจเข้าใจได้ ท่าทีของพวกเขาต่อรัฐเป็นท่าทีส่อแสดงอย่างประจักษ์ชัดที่สุดว่า พวกสมาชิกพรรคปฏิวัติสังคมและพวกเมนเชวิคหาใช่นักสังคมนิยมเต็มตัวไม่ (เป็นจุดที่เราชาว บอลเชวิค ตระหนักกันอยู่) แต่เป็นพวกประชาธิปัตย์นายทุนน้อยที่ใช้ถ้อยคำ อวดอ้างว่าเป็นนักสังคมนิยมเท่านั้น
อีกด้านหนึ่ง การบิดเบือนลัทธิมาร์คซ์ของ “พวกเคาท์สกี้” นับว่า ละเอียดอ่อนกว่ามาก “ว่ากันทางทฤษฎีแล้ว” พวกเขาไม่ปฏิเสธว่ารัฐคือองค์กรแห่งการปกครองทางชนชั้น ไม่ปฏิเสธว่าความเป็นปฏิปักษ์ ทางชนชั้นไม่อาจออมชอมกันได้ แต่สิ่งที่ถูกมองข้ามกลบเกลื่อนก็คือ: ถ้ารัฐคือผลผลิตของความออมชอมกันไม่ได้ซึ่งความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น, ถ้ารัฐคืออำนาจหนึ่งที่สถิตอยู่เหนือสังคม และ “ทำตัวเองให้ห่างเหินแปลกหน้าจากสังคมทุกขณะ” แล้วไซร้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การปลดปล่อยชนชั้นผู้ถูกกดขี่จะกระทำมิได้มิเพียงแต่หากปราศจากการปฏิวัติอันรุนแรงเท่านั้น แต่จะกระทำมิได้หากปราศจากการทำลายจักรกลแห่งอำนาจรัฐ ซึ่งชนชั้นปกครองสร้างขึ้นและซึ่งเป็นตัวตนของ “การห่างเหินแปลกหน้า” นี้ด้วย ดังเราจะเห็นกันต่อไปว่ามาร์คซ์ได้ดึงข้อสรุปอันเป็นสัจจธรรมทางทฤษฎีดังกล่าวจากผลของการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ ถึงภาระกิจของการปฏิวัติ และข้อสรุปนี้เองดังเราจะพรรณนาโดยละเอียด ต่อไป - ที่เคาท์สกี้... “ลืม” และบิดเบือน
เองเกิลส์กล่าวต่อไปว่า
“ในลักษณะอันตรงกันข้ามกับองคาพยพชาติกุล (เผ่า), แรกทีเดียว รัฐได้แบ่งพลเมืองออกตามอาณาเขต”
การแบ่งแยกเช่นนั้นดูเป็น “เรื่องธรรมดา” สำหรับเรา ทว่าความจริงมันต้องต่อสู้เป็นเวลานานกับรูปสังคมเผ่าหรือชาติกุลเก่า
"ลักษณะเด่นประการที่สองคือการจัดตั้งอำนาจสาธารณะ ซึ่งไม่เป็นหนึ่งเดียวโดยตรงกับประชาชนที่จัดตั้งตนเองเป็นกำลังติดอาวุธอีกต่อไป
อำนาจสาธารณะพิเศษนี้มีความจำเป็น เพราะองค์กรจัดตั้งติดอาวุธที่ทำการโดยอัตโนมัติของประชาชน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในเมื่อสังคมแตกแยกเป็นชนชั้น...อำนาจสาธารณะนี้ดำรงอยู่ในทุกรัฐ นอกจากประกอบด้วยกำลัง คนติดอาวุธแล้ว ยังประกอบด้วยเครื่องค้ำจุนทางวัตถุ คุก และสถาบันอำนาจทุกชนิด ซึ่งสังคมชาติกุล (เผ่า) ไม่เคยพบเห็น”
เองเกิลส์ได้อธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับ “อำนาจ” ซึ่งถูกเรียกว่ารัฐ ว่าเป็นอำนาจที่อุบัติจากสังคมแต่วางตนอยู่เหนือสังคม และทำตัวเองให้ห่างเหินแปลกหน้าจากสังคมทุกขณะ ก็อำนาจนี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอะไรเล่า? ประกอบ ด้วยองค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ ซึ่งมี คุก ศาล ฯลฯ อยู่ในกำมือ
การที่เราพูดถึง องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ นับว่าต้องด้วยเหตุผล เพราะอำนาจสาธารณะซึ่งเป็นลักษณะของทุกรัฐมิได้ “เป็นหนึ่งเดียวโดยตรง” กับประชาชนติดอาวุธ (อันประกอบด้วย “องค์การจัดตั้งติดอาวุธที่ทำการโดย อัตโนมัติของประชาชน”)
เช่นเดียวกับนักคิดปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ทั้งปวง เองเกิลส์ได้พยายามดึงความสนใจของคนงานผู้มีความสำนึกในชนชั้นไปสู่ความจริงที่ลัทธิหยาบเขลาอันแพร่หลายถือว่ามีค่าควรแก่การสนใจน้อยที่สุด กองทัพประจำการและกำลังตำรวจคือเครื่องมือหลักของอำนาจรัฐ มันไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้
เมื่อมองจากทัศนะของชาวยุโรปส่วนมากในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นพวกที่มิได้ใช้ชีวิตผ่านหรือสังเกตการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่อย่างใกล้ชิด พวกเขาย่อมไม่เข้าใจโดยสิ้นเชิงว่า “องค์กรจัดตั้งติดอาวุธที่ทำการโดยอัตโนมัติของ ประชาชน” คืออะไรกันแน่ สำหรับปัญหาที่ว่ามีเหตุจำเป็นอย่างใดหรือจึงเกิดองค์กรพิเศษของคนติดอาวุธขึ้น แล้ววางตัวอยู่เหนือสังคม และทำตัวเองให้ห่างเหินแปลกหน้าจากสังคมทุกขณะ (ได้แก่กำลังตำรวจ กองทัพ) พวกหยาบเขลาชาวรัสเซีย และยุโรปตะวันตกมักชอบที่จะตอบด้วยวลีสองสามวรรคที่ยืมมาจาก สเปนเซ่อร์ หรือ มิเคลลอฟสกี้ พร้อมกับอ้างถึงความสลับซับซ้อนของชีวิตสังคม ความหลากหลายของหน้าที่การงานและอื่นๆ จิปาถะ
การกล่าวอ้างเช่นนั้นดูเป็น “หลักฐาน” เอาการอยู่และทำให้คนเดินถนนไขว้ไปได้ โดยที่มันได้ปิดบังความจริงพื้นฐานที่สำคัญที่สุดเอาไว้ นั่นก็คือการแตกแยกของสังคมออกเป็นชนชั้น ซึ่งเป็นปฏิปักษ์อย่างออมชอมมิได้...
ในข้ออภิปรายข้างต้น เองเกิลส์ ได้ตั้งปัญหาในแง่ทฤษฎีประการเดียวกับที่การปฏิวัติใหญ่ทุกครั้งได้ตั้งขึ้นต่อหน้าเรา นั่นคือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร “พิเศษ” ของคนติดอาวุธ กับ “องค์กรจัดตั้งติดอาวุธของประชาชนที่ทำการโดยตนเอง” เราจะได้เห็นกันว่าปัญหานี้ได้รับการเฉลยอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความเจนจัดของการปฏิวัติในยุโรปและรัสเซียอย่างไร
ทว่าขอให้เราหันกลับไปหาข้ออรรถาธิบายของเองเกิลส์กันก่อน
ท่านชี้ว่าบางครั้ง (อาทิในบางส่วนของอเมริกาเหนือ) อำนาจสาธารณะนี้อ่อนแอ (ท่านนึกถึงสังคมทุนนิยมอันเป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่งรวมทั้งบางส่วนของต่างประเทศของเหล่ามหาอำนาจ ทว่าในปี 1914-17 เมื่อการแข่งขันดังกล่าว ซึ่งมีความเข้มข้นรุนแรงกว่าเดิมหลายต่อหลายเท่า ได้ก่อให้เกิดสงครามจักรพรรดินิยม พวกวายร้ายคลั่งชาติสังคมกลับพากันอำพรางการปกป้องผลประโยชน์จากการปล้นสดมภ์ของ “ตนเอง” (ชนชั้นนายทุน) ด้วยวลีเช่น “จงปกป้องปิตุภูมิ” “จงปกป้องสาธารณรัฐและการปฏิวัติ” ฯลฯ !
เพื่อให้อำนาจสาธารณะธำรงอยู่เหนือสังคมได้จำเป็นต้องเก็บภาษีและกู้เงินโดยรัฐ
"เมื่อได้ครอบครองอำนาจสาธารณะและสิทธิที่จะเก็บภาษีแล้ว” เองเกิลส์ เขียนต่อไปว่า "พวกข้าราชการในฐานะองค์กรของสังคมจึงสถิตเสถียรอยู่เหนือสังคม ความเคารพโดยเสรีสมัครใจที่เคยถูกมอบให้กับองค์กรของชาติกุล(เผ่า) มิอาจทำให้พวกเขาพอใจ แม้พวกเขาจะสามารถได้มาซึ่งความเคารพนั้น...” กลับมีการออกกฎหมายประกาศความศักดิ์สิทธิ์ และสิทธิคุ้มครองของบรรดาข้าราชการ "ตำรวจที่เลวทรามที่สุด” มี "อำนาจ” มากกว่าผู้แทนของเผ่าเสียอีก ทว่าแม้เหล่าทัพในรัฐอารยะก็จะต้องอิจฉาผู้อาวุโสของเผ่าซึ่งได้รับ "ความเคารพโดยปราศจากการบังคับ” จากสังคม
ตรงนี้เอง ปัญหาเกี่ยวกับฐานะอภิสิทธิ์ของข้าราชการในฐานะที่เป็นองค์กรแห่งอำนาจรัฐได้ถูกตั้งขึ้น ปัญหาใหญ่ที่ต้องถามก็คือ: อะไรเล่าที่เกื้อหนุนพวกเขาให้อยู่เหนือสังคม? เราจะได้เห็นกันว่าปัญหาทางทฏษฏีนี้ ได้รับคำตอบในทางปฏิบัติอย่างไรจากคอมมูนแห่งปารีสปี 1871 และถูกบิดเบือนในลักษณะปฏิกิริยาอย่างไร จากเคาท์สกี้ในปี 1912
"เนื่องจากรัฐอุบัติขึ้นจากความจำเป็นที่จะสะกัดกั้นความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น แต่ขณะเดียวกันเนื่องจากรัฐอุบัติขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งของชนชั้นเหล่านี้ ฉนั้นโดยทั่วไปย่อมเป็นรัฐของชนชั้นที่ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งโดยอาศัยรัฐเป็นเครื่องมือและย่อมจะเป็นชนชั้นที่ทรงอำนาจทางการเมืองไว้ด้วย ทำให้ชนชั้นนี้ได้รับเครื่องมือใหม่ๆ ในการปราบราม และขูดรีดชนชั้นผู้ถูกกดขี่ยิ่งขึ้น” มิเพียงแต่รัฐโบราณและรัฐขุนนางจะเป็นองค์กรสำหรับขูดรีดพวกทาสและพวกเกษตรกรติดที่ดินเท่านั้น “รัฐผู้แทนปัจจุบันก็เป็นเครื่องมือสำหรับขูดรีดแรงงานกรรมกรโดยทุนอย่างไรก็ตาม มีกรณียกเว้นในทางช่วงที่ชนชั้นซึ่งต่อสู้กันมีอำนาจถ่วงดุลย์กันและกัน กระทั่งอำนาจรัฐในฐานะผู้ปรองดองแต่เปลือกนอกมีความเป็นอิสระจากชนชั้นทั้งสอง” กรณีเช่นว่าได้แก่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในศตวรรษที่ 17 และศตวรรษที่ 18 รัฐบาลโบนาปาร์ตแห่งจักรวรรดิ์ที่ 2 ในฝรั่งเศส และรัฐบาลบิสมาร์กในเยอรมัน
เราอาจเสริมได้ว่ากรณีเช่นว่ารวมทั้งรัฐบาลเกอเรนสกี้สมัยสาธารณรัฐรัสเซีย 1917 เพราะเป็นรัฐบาลที่พยายามเข่นฆ่าชนชั้นกรรมาชีพที่คิดปฏิวัติในช่วงที่โซเวียตไร้กำลังแล้ว เนื่องจากอยู่ใต้การนำของพวกประชาธิปัตย์นาย ทุนน้อย ขณะเดียวกันชนชั้นนายทุนก็ยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะจัดการขับรัฐบาล
ในสาธาณรัฐประชาธิปไตยนั้น, เองเกิลส์กล่าวต่อไป “ทรัพย์สำแดงอำนาจโดยทางอ้อม แต่แน่นเหนียวมั่นคง” 1. ใช้วิธี“ติดสินบนข้าราชการ โดยตรง” (อเมริกา) 2. ใช้วิธี “รวมหัวรัฐบาลกับตลาดหุ้น” (ฝรั่งเศส, อเมริกา)
ในปัจจุบันลัทธิจักรพรรดินิยมและการครองอำนาจของธนาคารได้ “พัฒนา” กลวิธีค้ำชูตัวเองทั้งสองนี้ ส่งผลให้มหิทธานุภาพของทรัพย์แผ่ซ่าน ครอบคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยไม่ว่าจะอยู่ในรูปใด ยกตัวอย่างในระยะเดือนแรกๆ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยรัสเซีย (หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคเฟื่องของพวกสมาชิกพรรคปฏิวัติสังคม) ซึ่งพวกเมนเชวิคยอมร่วมหัวจมท้ายกับชนชั้นนายทุน นายปาลชินสกี้ ในคณะรัฐบาลผสมได้ขัดขวางมาตรการทุกอย่างที่มุ่งสะกัดกั้นพวกนายทุน และพฤติการณ์ทำนองปล้นสดมภ์ของพวกเขา ต่อมานายปาลชินสกี้ลาออกพวกนายทุนได้ “ตกรางวัล” ให้กับเขาด้วยงาน “เบาๆ” ในอัตราเงินเดือน 120,000 รูเบิ้ลต่อปี อย่างนี้ท่านจะเรียกมันว่ากระไร - ติดสินบนโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม?
เหตุผลว่าทำไมมหิทธานุภาพของทรัพย์จึงมีความมั่นคงในสาธารณรัฐประชาธิปไตย ก็คือว่ามหิทธานุภาพดังกล่าว หาได้พึ่งพิงอยู่กับปราการการเมืองของระบอบนายทุนไม่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นปราการการเมืองที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ของระบอบทุนนิยม ฉนั้นทันทีที่ทุนมีอำนาจควบคุมปราการที่ดีที่สุดนี้แล้ว (ผ่านบุคคลเช่นนาย ปาลชินสกี้ เชอร์นอฟ และคนอื่นๆ) มันก็จะสถาปนาอำนาจของมันลงอย่างมั่นคงและอย่างปลอดภัย กระทั่งว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันใด ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือสถาบัน หรือพรรค การเมืองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยของนายทุน จะสามารถสั่นคลอนมันได้เลย
เราต้องสังเกตด้วยว่า เองเกิลส์ ได้กล่าวอย่างตรงประเด็นที่สุดที่ท่านเรียก “สิทธิลงคะแนนเสียงทั่วไป” ว่าเป็นเครื่องมือการปกครองของเหล่านายทุน ท่านกล่าวว่าสิทธิลงคะแนนเสียงทั่วไปก็คือ “เครื่องวัด วุฒิภาพของชนชั้นคนงาน มันไม่สามารถและไม่มีทางเป็นอย่างอื่นมากกว่านี้ไปได้เป็นอันขาดในรัฐปัจจุบัน”
พวกประชาธิปัตย์นายทุนน้อย เช่นพวกสมาชิกพรรคปฏิวัติสังคม พวกเมนเชวิค รวมทั้งพวกคลั่งชาติสังคม และพวกฉวยโอกาสในยุโรปตะวันตก ต่างพากันหวังจากสิทธิลงคะแนนเสียงทั่วไป พวกเขาเห็นร่วมกันและยัดเยียดความคิดผิดๆ ให้กับประชาชนว่า สิทธิลงคะแนนเสียงทั่วไป “ในรัฐปัจจุบัน” สามารถแสดงเจตนารมย์ของผู้ใช้แรงงานส่วนข้างมาก สามารถทำให้เจตนารมย์ดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ
ในที่นี้เราไม่เพียงแต่แนะให้เห็นความคิดผิดๆนี้เท่านั้น เรายังต้องการชี้ให้เห็นว่าคำกล่าวอันเป็นรูปธรรมอันแน่นอนและสมบูรณ์ที่สุดของเองเกิลส์ ได้ถูกบิดเบือนทุกขั้นตอนในการโฆษณาเผยแพร่ปลุกปั้นของบรรดาพรรคสังคมนิยม “แบบทางการ” (คือฉวยโอกาส) ส่วนการตีแผ่อย่างละเอียดถึงความผิดพลาดของความคิดนี้ (ซึ่งเองเกิลส์กล่าวผ่านๆเอาไว้) จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในการกล่าวถึงทัศนะของมาร์คซ์และเองเกิลส์เกี่ยวกับรัฐ “ในปัจจุบัน”
เองเกิลส์ได้ให้ข้อสรุปกว้างๆ เกี่ยวกับทัศนะของท่าน ไว้ในบทนิพนธ์ที่ แพร่หลายที่สุด ดังนี้ :
“เคยมีสังคมที่ดำรงอยู่ได้โดยไม่มีรัฐ ไม่มีแม้แต่แนวคิดเกี่ยวกับรัฐและ อำนาจรัฐ ทว่าในขั้นหนึ่งขั้นใดแห่งพัฒนาการ (อันเกี่ยวเนื่องอยู่กับการแตกแยกของ สังคมออกเป็นชนชั้น) รัฐกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพราะการแตกแยกดังกล่าวนี้ ขณะนี้เรากำลังเข้าใกล้ขั้นหนึ่งอย่างรวดเร็วในกระบวนพัฒนาการแห่งการผลิต ซึ่งการทรงอยู่ของชนชั้นเหล่านี้นอกจากจะสิ้นความจำเป็นแล้ว ยังกลายเป็นอุสรรคขัดขวางการผลิต ด้วยชนชั้นเหล่านี้จะต้องแตกดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นกับที่มันเคยอุบัติขึ้นในต้นๆ พร้อมๆกับการแตกดับของชนชั้นรัฐก็จะแตกดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมซึ่งจะจัดตั้งการผลิตบนพื้นฐานแห่งการร่วมมมือกันอย่างเสรีเทียมกัน ย่อมจะต้องจับจักรกลรัฐทั้งมวลยัดใส่ที่ที่มันควรต้องอยู่ : คือพิพิธภัณฑ์ของโบราณเคียงข้างกับล็อกกรอด้ายและขวานบรอนซ์”
เรามักไม่ใคร่พบข้อความข้างต้นในหนังสือโฆษณาเผยแพร่ปลุกปั้นของฝ่ายลัทธิสังคมประชาธิปไตยในทุกวันนี้เลย แต่ถึงแม้เราจะพบ มันก็เป็นการยกมาอ้างเกือบลักษณะเดียวกับการหมอบกราบรูปเคารพ กล่าวคือเป็นการกระทำเพื่อแสดงความเคารพเป็นทางการแก่เองเกลิส์ มิได้มีความพยายามอันใดที่จะทำความเข้าใจความลุ่มลึกของการปฏิวัติและในเกือบทุกกรณี เราจะไม่พบแม้แต่ความเข้าใจสิ่งที่เองเกลิส์เรียกว่าจักรกลรัฐเอาด้วย
ถ้อยคำของ เองเกิลส์เกี่ยวกับ “การสลายตัว” ของ รัฐเป็นที่รู้จักแพร่หลาย นับเป็นถ้อยคำที่ยกมาอ้างกันอยู่เนืองๆ และเผยให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงสารัตถะของการปลอมปนลัทธิมาร์คซ์ที่ปฏิบัติกันเป็นประจำ อันเราจะต้องพูดถึงโดยละเอียด เราขอยกข้อความทั้งหมดจากแหล่งที่อ้างดังนี้:
“ชนชั้นกรรมาชีพต้องยึดอำนาจรัฐ และจัดการเปลี่ยนปัจจัยผลิตมาเป็นทรัพย์สินของรัฐเป็นอันดับแรก แต่การกระทำดังนี้ เท่ากับชนชั้นกรรมาชีพล้มล้างตนเองในฐานะชนชั้นกรรมาชีพ ล้มล้างความแตกต่าง ทางชนชั้นและความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นทั้งปวง พร้อมกันนั้นก็ล้มล้างรัฐในฐานะรัฐด้วย สังคมแต่ก่อนเป็นสังคมที่เวียนวนอยู่ในความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น จึงจำต้องมีรัฐ นั่นก็คือองค์กรจัดตั้งของชนชั้นผู้ขูดรีดในแต่ละยุค เพื่อธำรงไว้ซึ่งเงื่อนไขภายนอกแห่งการผลิตของชนชั้นนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่การใช้กำลังปราบปรามชนชั้นผู้ถูกขูดรีดให้ตกอยู่ภายใต้สภาพแห่งการถูกกดขี่ (ระบบทาส ระบบเกษตรกรติดที่ดิน ระแบบแรงงานรับจ้าง) ซึ่งก็ถูกกำหนดด้วยรูปการผลิตที่เป็นอยู่อีกชั้นหนึ่ง รัฐคือตัวแทนเป็นทางการของสังคมโดยส่วนรวม เป็นจุดรวมยอดของสังคมในรูปบรรษัทที่มองเห็นได้ แต่มันจะเป็นอย่างนี้ได้ต่อเมื่อมันเป็นรัฐของชนชั้น ซึ่งตัวเองเป็นตัวแทนโดยส่วนรวมของยุคนั้น: สมัยโบราณได้แก่รัฐของพลเมืองที่เป็นเจ้าของทาส, ในยุคกลางได้แก่รัฐของพวกขุนนาง, ในยุคของเราได้แก่ รัฐของชนชั้นนายทุน จนในท้ายที่สุดเมื่อรัฐกลายเป็นตัวแทนอย่างแท้จริงของสังคมโดยส่วนรวมแล้ว มันก็จะทำให้ตัวเองหมดความหมาย เมื่อใดที่ไม่มีชนชั้นใดสำหรับให้กดขี่อีกต่อไป (พร้อมกับการครอบงำทางชนชั้น และการต่อสู้เพื่อมีชีวิตของเอกชนโดยมีพื้นฐาน อยู่บนความไร้แบบแผนในการผลิตดังก่อน) เมื่อใดที่การกระทบกระทั่งและความเลยเถิด อันเกิดจากสิ่งดังกล่าวนี้ได้ถูกขจัดสิ้นไป เมื่อนั้นย่อมไม่มีสิ่งใดให้ปราบปรามกดขี่ อันจะทำให้กำลังปราบปรามพิเศษหรือรัฐ ไม่มีความจำเป็น การกระทำเบื้องแรกซึ่งรัฐก้าวออกมาในฐานะตัวแทนอย่างแท้จริงของสังคมโดยส่วนรวม - คือการเข้ายึดกุมปัจจัยผลิตในนามของสังคม - ในขณะเดียวกันก็เป็นการกระทำอันเป็นอิสระครั้งสุดท้ายในฐานะรัฐ การเข้าแทรกแซงของอำนาจรัฐในความสัมพันธ์ทางสังคมกลายเป็นสิ่งหมด ความหมาย แล้วสิ้นสุดลงโดยตัวมันเอง การบริหารบุคคลจะถูกแทนที่ด้วยการบริหารสิ่งของและการควบคุมกระบวนการผลิต รัฐมิได้ถูก “ล้มล้าง” แต่มันสลายตัว จากจุดยืนดังกล่าวมานี้เองที่เราต้องใช้ประเมินวลี ‘รัฐของประชาชนเสรี’ ...พร้อมทั้งใช้ประเมิน ข้อเรียกร้องของพวกอนาธิปัตย์ที่เรียกร้องให้ล้มเลิกรัฐเสียโดยฉับพลัน”
(บทความ "ต่อต้านดือห์ริง" หน้า 301-303 ฉบับภาษาเยอรมันพิมพ์ ครั้งที่ 3)
อาจกล่าวได้โดยไม่กลัวผิดว่าจากข้ออภิปรายของเองเกิลส์ที่ยกมานี้ ซึ่งอุดมด้วยความคิดยิ่งนัก คงมีอยู่ประเด็นเดียวเท่านั้นที่กลายเป็นส่วนสำคัญแห่งแนวคิดสังคมนิยมในหมู่พรรคสังคมนิยมปัจจุบัน นั่นก็คือตามทัศนะของมาร์คซ์รัฐต้อง “สลายตัว” อันตรงกันข้ามกับหลักการของพวกอนาธิปัตย์ที่เน้น “การล้มล้าง“รัฐ ทว่าการบิดเบือนลัทธิมาร์คซ์ในลักษณะเช่นนั้นก็เท่ากับลดทอนลัทธิมาร์คซ์ลงเป็นลัทธิฉวยโอกาส เพราะ “การตีความ“เช่นนั้นมีแต่ทำให้เกิดแนวคิดอันคลุมเครือว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ปราศจากมิคสัญญี ปราศจากการปฏิวัติ ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับ“การสลายตัว” ของรัฐที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน จึงหมายถึงการลดทอนความสำคัญของการปฏิวัติ แม้ไม่ถึงกับปฏิเสธการปฏิวัติก็ตาม
“การตีความ” เช่นนั้นเป็นการบิดเบือนลัทธิมาร์คซ์อย่างหยาบที่สุดเพื่อให้ประโยชน์จำเพาะชนชั้นนายทุน เมื่อพิจารณาในแง่ทฤษฏีแล้ว การตีความดังกล่าวนับว่าตั้งอยู่บนการมองข้ามสภาวการณ์และข้อพิจารณาอันสำคัญที่สุดที่แนะเอาไว้อย่างเช่นในข้ออภิปราย“สรุป“ของเองเกิลส์ที่เราเพิ่งอ้างอย่างสิ้นกระทงความข้างต้น
ประการแรกทีเดียว ในตอนต้นแห่งข้ออภิปรายของเองเกิลส์ กล่าวไว้ว่าในการยึดอำนาจรัฐชนชั้นกรรมาชีพจะ“ล้มล้างรัฐในฐานะรัฐ” พร้อมกันไปด้วย ทว่ามันหาใช่รูปแบบที่ดีไม่ที่จะมามัวสนใจใคร่ครวญ กับความหมายของความข้อนี้ โดยทั่วไปก็มักมองข้ามไปเสียหรือไม่ก็ยกให้เป็น“ความบกพร่องของระบบเฮเกิล” ซึ่งสืบทอดมาสู่เองเกิลส์ อย่างไรก็ดีโดยความเป็นจริงแล้ว ความข้อนี้ได้แสดงอย่างกระชับให้ประจักษ์ถึงประสบการณ์ของการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง คือคอมมูนแห่งปารีส1871 ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดในที่อันควรต่อไป โดยความเป็นจริงแล้วในที่นี้เองเกิลส์พูดถึงว่าการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพที่ “ล้มล้าง” รัฐของชนชั้นนายทุน ส่วนคำว่ารัฐสลายตัวหมายถึงรัฐของชนชั้นกรรมาชีพภายหลังการปฏิวัติสังคมนิยมต่างหาก ตามทัศนะของเองเกิลส์นั้นรัฐของชนชั้นนายทุนมิได้ “สลายตัว” แต่ “ถูกล้มล้าง” โดยชนชั้นกรรมาชีพในช่วงแห่งการปฏิวัตินี้ และสิ่งที่สลายตัวได้แก่รัฐหรือกึ่งรัฐของชนชั้นกรรมาชีพนั่นเอง
ประการที่สอง รัฐคือ “กำลังปราบปรามพิเศษ” นับเป็นคำนิยามที่ เองเกิลส์ให้ไว้อย่างกระจ่างลึกซึ้งยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วย่อมหมายถึงว่า “กำลังปราบปรามพิเศษ” เพื่อปราบปรามชนชั้นกรรมาชีพโดยชนชั้นนายทุน, เพื่อกดขี่ผู้ใช้แรงงานนับล้านโดยคนรวยกลุ่มย่อย ซึ่งจะต้องถูกแทนที่ด้วย “กำลังปราบปรามพิเศษ” เพื่อปราบปรามชนชั้นนายทุนโดยชนชั้นกรรมาชีพ(เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ) นี่คือความหมายของคำว่า “ล้มล้างรัฐในฐานะรัฐ” นี่คือ “การกระทำ” เข้ายึดกุมปัจจัยผลิตในนามของสังคม และย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การแทนที่ “กำลังพิเศษ” (ของชนชั้นนายทุน) เช่นนั้น ด้วย “กำลังพิเศษ” (ของชนชั้นกรรมาชีพ) จะเกิดขึ้นไม่ได้ในรูปของ “การสลายตัว”
ประการที่สาม ในการพูดถึงรัฐ “สลายตัว” และ “สิ้นสุดลงโดยตัวมันเอง” เองเกิลส์หมายถึงช่วงหลังจากที่ “รัฐเข้ายึดกุมปัจจัยผลิตในนามของสังคมส่วนรวม” กล่าวคือ ภายหลังการปฏิวัติสังคมนิยม เราทุกคนล้วนรู้ดีว่ารูปแบบการเมืองของ“รัฐ” ขณะนั้นจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุด ทว่าพวกฉวยโอกาสซึ่งบิดเบือนลัทธิมาร์คซ์อย่างไร้ยางอายหา ได้ตระหนักไม่ว่าเองเกิลส์ได้พูดถึงว่า ประชาธิปไตยจะ“สิ้นสุดลงโดยตัวมันเอง” หรือ “สลายตัว” อีกด้วย ข้อนี้ดูผิวเผินจะแปลกอยู่ ทว่ามันจะเป็นเรื่อง“ที่ไม่อาจเข้าใจได้“จำเพาะแต่ผู้ที่ไม่ใส่ใจใคร่ครวญความจริงที่ว่าประชาธิปไตยก็คือรัฐด้วย ฉนั้นประชาธิปไตยจึงย่อมจะดับสิ้นไปเมื่อรัฐดับสิ้นไป การปฏิวัติเท่านั้นที่สามารถ “ล้มล้าง“รัฐของชนชั้นนายทุนได้ แต่รัฐโดยทั่วไป กล่าวคือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุดได้แต่ “สลายตัว“ไป
ประการที่สี่ หลังจากเสนอมติอันลือชื่อของท่านที่ว่า “รัฐสลายตัว” แล้ว เองเกิลส์ก็อธิบายอย่างเจาะจงในทันทีว่า มตินี้มุ่งต่อต้านทั้งพวกฉวยโอกาสและ พวกอนาธิปัตย์
เราอาจพนันกันได้ว่าในคนทุกหมื่นคนที่ได้อ่านหรือได้ยินเกี่ยวกับ “การสลายตัว” ของรัฐ, 9990 คน ไม่รู้หรือไม่อาจรำลึกได้ว่าเองเกิลส์ได้พุ่งข้อสรุปของท่านที่ดึงจากมตินี้เข้าโจมตีคนอื่นด้วยนอกจากพวกอนาธิปัตย์ ส่วนสิบคนที่เหลือ, บางทีเก้าคนอาจไม่เข้าใจความหมายของ“รัฐของประชาชนเสรี” หรือไม่รู้ว่าทำไมการโจมตีคำขวัญนี้จึงหมายถึงการโจมตีพวกฉวยโอกาสด้วย นี่แหละคือวิถีที่ประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้น! นี่แหละคือวิถีที่คำสอนปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ถูกบิดเบือน ถูกปรับให้เข้ากับลัทธิหยาบเขลาที่แพร่หลาย! ข้อสรุปที่มุ่งต้านพวกอนาธิปัตย์ถูกยกขึ้นอ้างเป็นพันๆครั้ง แต่ข้อสรุปที่มุ่งต้านพวกฉวยโอกาสกลับถูกปัดผ่านและ “ถูกลืม”!
“รัฐของประชาชนเสรี” เป็นโครงการและคำขวัญของพวกสังคมนิยมประชาธิปัตย์เยอรมันในทศวรรษที่เจ็ดของศตวรรษที่ 19 คำขวัญนี้หาสาระทางการเมืองมิได้ เว้นแต่มันได้ประทับแนวคิดประชาธิปไตยอันสวยหรูเอาไว้ และตราบเท่าที่มันเป็นคำขวัญที่เรียกร้องเป็นนัยๆ ให้ได้มาซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยในขอบเขตของกฎหมายแล้ว เองเกิลส์ก็พร้อมที่จะยอมรับ “ความสมเหตุผล” ของมัน “อยู่ชั่วขณะหนึ่ง” (เพื่อใช้ในการปลุกปั่นก่อกวน) ทว่าถึงอย่างไรมันก็เป็นคำขวัญแบบฉวยโอกาสอยู่นั่นเอง เราสนับสนุนการได้มาซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตย เพราะเป็นรูปแบบรัฐของนายทุนที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ทว่าเราไม่มีสิทธิที่จะลืมว่าระบบทาสค่าจ้างคือฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งมวล แม้ในสาธารณรัฐของนายทุนที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ยิ่งกว่านั้น รัฐทุกรัฐก็คือ“กำลังพิเศษสำหรับปราบปราม“ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ฉนั้นรัฐทุกรัฐจึงไม่เป็น “เสรี” และไม่เป็น “รัฐของประชาชน” มาร์คซ์และเองเกิลส์ เองก็ได้อธิบายความข้อนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าแก่สหายร่วมพรรคของท่านในทศวรรษ ที่เจ็ดของศตวรรษที่แล้ว
ประการที่ห้า บทนิพนธ์ของเองเกิลส์เล่มเดียวกันนี้ (ซึ่งทำให้คนทั้งหลาย พากันรำลึกถึงข้ออภิปรายเกี่ยวกับการสลายตัวของรัฐ) ยังได้บรรจุข้ออภิปรายเกี่ยวกับความสำคัญของการปฏิวัติอย่างรุนแรงไว้ด้วย การวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ ของเองเกิลส์ถึงบทบาทของมันได้กลายเป็นคำยกย่องสดุดีการปฏิวัติอย่างรุนแรง ความข้อนี้“ไม่มีใครจำได้“สักคนเดียว มันหาใช่“รูปแบบที่ดี“ไม่ ที่พรรคสังคมนิยมทั้งหลายในปัจจุบันจะพูดหรือคิดถึงความสำคัญของความคิดนี้ ทว่าความคิดนี้กลับมีความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับ“การสลายตัว” ของรัฐกระทั่งเรียกได้ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทีเดียว
นี่คือข้ออภิปรายของเองเกิลส์ :
“...อย่างไรก็ดี กำลังนั้นนับว่าได้แสดงบทบาทอีกด้านหนึ่ง”(นอกเหนือจากเป็นพลังที่ชั่วร้าย) “ในประวัติศาสตร์ ได้แก่บทบาทปฏิวัติ; กล่าวโดยใช้คำของมาร์คซ์ได้ว่า กำลังคือนางผดุงครรภ์ของสังคมเก่าทุกสังคมที่ตั้งครรภ์ด้วยสังคมใหม่ กำลังคือเครื่องมือที่ช่วยให้ขบวนการทางสังคมเผยตัวออกมาได้ แล้วทำลายล้างรูปแบบการเมืองที่ตายซาก ความข้อนี้นายดือห์ริงมิได้กล่าวถึงเลยสักคำ” (หน้า193 ฉบับภาษาเยอรมันพิมพ์ครั้งที่สาม ภาค 2, ตอนสุดท้ายของบทที่ 4)
ก็แล้วคำยกย่องสดุดีการปฏิวัติอย่างรุนแรงดังกล่าวนี้จะผสานกับทฤษฏี “การสลายตัว” ของรัฐเข้าเป็นหลักการอันหนึ่งอันเดียวได้อย่างไรเล่า?
เราได้กล่าวข้างต้นแล้ว และเราจะกล่าวโดยละเอียดต่อไปว่า คำสอนของมาร์คซ์และเองเกิลส์เกี่ยวกับความหลีกเลี่ยงไม่ได้ของการปฏิวัติอย่างรุนแรงนั้น พุ่งตรงไปยังรัฐของชนชั้นนายทุน รัฐของชนชั้นนายทุนไม่อาจถูกแทนที่ด้วยรัฐของชนชั้นกรรมาชีพ(เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ) โดยผ่านกระบวนการ “สลายตัว” มีแต่ต้องผ่านการปฏิวัติอย่างรุนแรงเท่านั้น คำยกย่องสุดดีการปฏิวัติอย่างรุนแรงของเองเกิลส์ นับว่าสอดคล้องทุกกระเบียดกับคำประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าของมาร์คซ์ (ขอให้นึกถึงข้อความสรุปลงท้ายของบทนิพนธ์ชื่อความอับจนของปรัชญา และ คำประกาศพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งประกาศอย่างหยิ่งทรนงและเปิดเผยถึงความหลีกเลี่ยงไม่ได้ของการปฏิวัติอย่างรุนแรง ขอให้นึกถึงสิ่งที่มาร์คซ์เขียนเอาไว้เกือบสามสิบปีต่อมา ในการวิจารณ์โครงการ “โกธา” ปี 1875 ท่านได้กระชากหน้ากากความเป็นนักฉวยโอกาสของโครงการนั้น อย่างไม่ปรานี) อีกทั้งคำยกย่องสดุดีนั้นก็หาได้เป็นเพียง “แรงกระตุ้น” เป็นเพียง สุนทรพจน์ หรือเป็นเพียงคำคมแต่อย่างใดไม่ ความจำเป็นที่จะต้องพร่ำสอนมวลชนให้ซึมซาบถึงทรรศนะแห่งการปฏิวัติอย่างรุนแรงอันนี้ นับเป็นรากเง่าแห่งคำสอนทั้งปวงของมาร์คซ์และเองเกิลส์
การแทนที่รัฐของชนชั้นนายทุนด้วยรัฐของชนชั้นกรรมาชีพ ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างเด็ดขาดหากปราศจากการปฏิวัติอย่างรุนแรง และการล้มล้างรัฐของชนชั้นกรรมาชีพไม่มีทางเป็นไปได้เว้นแต่ผ่านกระบวนการ “สลายตัว” เท่านั้น
มาร์คซ์และเองเกลส์เป็นผู้ให้คำอรรถาธิบายเกี่ยวกับทัศนะเหล่านี้อย่างละเอียดและอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อท่านได้ศึกษาสถานการณ์ปฏิวัติแต่ละรายแยกออกไป, เมื่อท่านได้วิเคราะห์บทเรียนจากความจัดเจนของการปฏิวัติแต่ละครั้งแยกออกไป ต่อไปนี้เราจะได้ผ่านไปสู่ส่วนนี้อันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของคำสอนของท่านทั้งสอง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1870 (สองสามเดือนก่อนจัดตั้ง คอมมูน) มาร์คซ์ได้เตือนกรรมกรปารีสว่า ความพยายามใดๆ ที่จะโค่นล้มรัฐบาล นับเป็นเรื่องโง่ทั้งสิ้น ทว่าในเดือนมีนาคม 1871 เมื่อการต่อสู้ขั้นแตกหักถูกยัดเยียดให้กับกรรมกร และกรรมกรก็ยอมรับมือกับการท้าทายเมื่อการลุกฮือกลายเป็นความจริงขึ้นมา มาร์คซ์ได้ต้อนรับการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพด้วยความศรัทธาในความกล้า ทั้งที่มีลางไปในทางลบ มาร์คซ์มิได้ถือท่าทีแก่ตำรา ประณามความเคลื่อนไหวที่ “ผิดกาละเทศะ” อย่างที่ผู้แปรพักตร์จากลัทธิมาร์คซ์ ชาวรัสเซียชื่อ นายเพลคานอฟ ได้กระทำ คือในเดือนพฤศจิกายน 1905 คนผู้นี้ได้เขียนหนังสือเป็นเชิงสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกรและชาวนา แต่พอคล้อยหลังเดือนธันวาคม 1905 กลับตะโกนก้องตามแบบฉบับพวกเสรีนิยมว่า “พวกเขาไม่ควรจับอาวุธเลย”
อย่างไรก็ตาม มาร์คซ์ มิเพียงแต่มีศรัทธาแก่กล้าในวีรกรรมของชาวคอมมูน ซึ่งเป็นผู้ “โจมตีสวรรค์” ดังที่ท่านกล่าวเอาไว้เท่านั้น แม้ความเคลื่อนไหวปฏิวัติของมวลชนจะไม่สัมฤทธิ์จุดประสงค์ ท่านก็ถือว่ามันเป็นความเจนจัดทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง ในแง่ที่เป็นความก้าวหน้าของ การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพสากล ในแง่ที่เป็นขั้นปฏิบัติขั้นหนึ่งที่มีความสลักสำคัญกว่าโครงการและข้อถกเถียงร้อยสี่พันอย่าง การวิเคราะห์การทดลองอันนี้ ถึงบทเรียนทางยุทธวิธีจากมัน และตรวจสอบทฤษฎีของท่านซ้ำอีกโดยอาศัย การทดลองนี้ นั่นคือภาระที่มาร์คซ์มอบหมายให้ตัวเอง
“การแก้ไข” ประการเดียวที่มาร์คซ์คิดว่าจำเป็นต้องกระทำใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นั้น ท่านกระทำโดยยึดความเจนจัดทางปฏิวัติของชาวคอมมูนแห่ง ปารีสเป็นพื้นฐาน
คำนำครั้งสุดท้ายที่เขียนให้กับแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ฉบับ เยอรมันพิมพ์ครั้งใหม่ ลงนามโดยผู้แต่งทั้งสองท่าน ได้เขียนเอาไว้ลงวันที่ 24 มิถุนายน 1872 ในคำนำครั้งนี้ผู้แต่งคือ คาร์ล มาร์คซ์ และเฟรเดอริค เองเกิลส์ กล่าวว่าโครงการของแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ “ล้าสมัยในรายละเอียดบางอย่าง” และท่านกล่าวต่อไปว่า:
“สิ่งหนึ่งซึ่งได้รับการพิสูจน์โดยเฉพาะจากคอมมูน ก็คือ ชนชั้นกรรมกร ไม่อาจยึดเอากลไกที่มีอยู่ก่อนแล้วมาใช้สนองจุดหมายของตน”
ท่านผู้แต่งได้ยกข้อความที่อยู่ในอัญญประกาศย่อยมาจากหนังสือของมาร์คซ์ชื่อ สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส ดังนี้ จะเห็นว่ามาร์คซ์และเองเกิลส์ถือว่าบทเรียนของคอมมูนแห่งปารีสมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง ถึงกับท่าน นำเอามาแก้ไขไว้ใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์
และก็การแก้ไขในส่วนสาระนี่เองแหละ ที่ถูกพวกฉวยโอกาสบิดเบือน หนำซ้ำความหมายของมันก็อาจไม่เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ผู้อ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ส่วนมากด้วย เราจะได้กล่าวถึงการบิดเบือนดังกล่าวโดยละเอียดต่อไป ในที่ว่าด้วยการบิดเบือนโดยเฉพาะ ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตเพียงว่า “การตีความ” คำกล่าวของมาร์คซ์ที่เพิ่งยกมาข้างต้น กลับกลายเป็นว่ามาร์คซ์เน้นแนวคิดแห่งพัฒนาการอย่างช้าๆ มิใช่เน้นการยึดอำนาจโดยการปฏิวัติ
ที่จริง แนวคิดที่ตรงกันข้ามต่างหากที่ถูกต้อง แนวคิดของมาร์คซ์ถือว่าชนชั้นกรรมาชีพจะต้องทำลาย จะต้องบดขยี้ “กลไกรัฐที่มีอยู่ก่อนแล้ว” มิใช่จำกัดตนเองอยู่แค่ยึดเอามาเท่านั้น
ในวันที่ 12 เมษายน 1871 อันอยู่ในช่วงที่มีการจัดตั้งคอมมูน มาร์คซ์ได้ เขียนถึง คูเกลมัน์ว่า:
“หากท่านอ่านดูบทสุดท้ายของหนังสือข้าพเจ้าชื่อ Eighteenth Brumaire ท่านจะพบว่าข้าพเจ้าได้กล่าวว่า ความพยายามครั้งต่อไปของการปฏิวัติฝรั่งเศสจะต้องมิใช่การเปลี่ยนกลไกระบบราชการและทหารจากมือหนึ่งไปยังมือหนึ่งอีกต่อไปดังแต่ก่อน แต่จะต้อง บดขยี้ กลไกนั้น” (ตัวดำของมาร์คซ์เอง ตันฉบับคือ zerbrechen) “และนี่คือเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการปฏิวัติของประชาชน ที่แท้จริงทุกครั้งบนภาคพื้นยุโรป และนี่คือสิ่งที่สหายพรรคที่กล้าหาญของเราในปารีสกำลังพยายามจะกระทำอยู่”
คำว่า “บดขยี้กลไกระบบราชการและทหาร” แสดงให้เห็นอย่างกระชับถึงบทเรียนสำคัญของลัทธิมาร์คซ์เกี่ยวกับภาระกิจของชนชั้นกรรมาชีพระหว่างการปฏิวัติในส่วนที่เนื่องด้วยรัฐ และบทเรียนอันนี้แหละมิเพียงแต่ถูกลืมโดยสิ้นเชิง แต่ยังถูกบิดเบือนจนเสียรูปจาก “การตีความ” ลัทธิมาร์คซ์ของเคาท์สกี้!
ในข้ออภิปรายที่อ้างข้างต้น มีสิ่งที่น่าสังเกตอยู่สองประการด้วยกัน ประการแรกท่านจำกัดข้อสรุปของท่านอยู่แต่พื้นแผ่นดินยุโรป นี่เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ในปี 1871 เพราะอังกฤษยังคงเป็นรูปแบบประเทศทุนนิยมบริสุทธิ์ ไม่มีกลุ่มปกครองทางทหารและส่วนใหญ่แล้วไม่มีระบบราชการที่สลับซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ มาร์คซ์จึงต้องตัดอังกฤษออกไป ด้วยเป็นที่ที่การปฏิวัติ(กระทั่งการ ปฏิวัติของประชาชน) ดูจะเป็นไปได้และเป็นไปได้จริงๆ โดยปราศจากเงื่อนไขเบื้องต้นในการทำลาย “กลไกระบบราชการและทหาร”
ปัจจุบัน ในปี 1917 อันเป็นยุคของสงครามจักรพรรดินิยมครั้งใหญ่ครั้งแรกนั้น ข้อสงวนของมาร์คซ์ดังกล่าวนับว่าไม่ต้องด้วยเหตุผลอีกต่อไปทั้ง อังกฤษและอเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทน “เสรีภาพ” แองโกลแซกซอนของโลกทั้งมวล (ในความหมายที่ประเทศทั้งสองไม่มีกลุ่มปกครองทางทหารและระบบราชการ อันสลับซับซ้อน) ได้จมสู่ปลักอันโสมมนองเลือดแห่งสถาบันระบบราชการและทหาร ซึ่งครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างไว้ใต้บาทาของมัน เพราะฉนั้นในปัจจุบันทั้งในอังกฤษ และอเมริกาเช่นกันที่“เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการปฏิวัติของประชาชนที่แท้จริง” จะต้องบดขยี้ จะต้องทำลาย “กลไกรัฐที่มีอยู่ก่อนแล้ว” (ซึ่งได้รับการสร้างเสริมจนสมบูรณ์ในประเทศทั้งสองระหว่างปี 1914-1917 จนบรรลุถึงมาตรฐานทั่วไปของ “ยุโรป”)
ประการที่สอง ควรพุ่งความสนใจโดยจำเพาะไปสู่คำกล่าวอันลึกซึ้งยิ่งของมาร์คซ์ที่ว่า การทำลายกลไกระหว่างราชการและทหารย่อมเป็น “เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการปฏิวัติของประชาชนที่แท้จริงทุกครั้ง” แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติ “ของประชาชน” ออกเป็นเรื่องแปลกที่มาจากมาร์คซ์นี่เอง เป็นเหตุให้พวกนายเพลคานอฟและพวกเมนเชวิคในรัสเซียพากันประกาศว่า วลีนั้นเป็นเรื่อง “ปากกาพาไป” ของมาร์คซ์ ในความคิดของพวกเขานั้น พวกเขามองไม่เห็นว่าจะมีอะไรนอกเหนือจากการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนแล้วก็การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ แม้กระนั้นพวกเขาก็พากันตีความการปฏิวัติทั้งสองแบบนี้ไปในแนวที่ไร้ชีวิตจิตใจ
หากเราหยิบยกการปฏิวัติในศตวรรษที่ 20 เป็นตัวอย่าง เราต้อง ยอมรับว่า การปฏิวัติของปอร์ตุเกสและการปฏิวัติของตุรกีต่างก็เป็นการปฏิวัติ ของชนชั้นนายทุน อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติของทั้งสองประเทศมิใช่การปฏิวัติ “ของประชาชน” เนื่องจากมวลประชาชนส่วนใหญ่ข้างมากของประเทศทั้งสองมิได้เข้าร่วมด้วยอย่างแข็งขัน อย่างเป็นอิสระ พร้อมด้วยข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจ และการเมืองอย่างเป็นกิจลักษณะ ในทางกลับกัน, แม้การปฏิวัติของชนชั้น นายทุนรัสเซียปี 1905-07 จะไม่เผยให้เห็นความสำเร็จ “อันเจิดจรัส” ดังที่ตกอยู่กับการปฏิวัติของปอร์ตุเกสและตุรกีครั้งกระนั้น แต่ต้องนับว่าการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนรัสเซียเป็นการปฏิวัติ “ของประชาชนที่แท้จริง” โดยไม่ต้องสงสัย เพราะมวลประชาชนส่วนข้างมากของรัสเซีย ซึ่งเป็นคนชั้นล่างสุดของสังคมที่ตกอยู่ใต้การขูดรีดการกดขี่อย่างแสนสาหัส ได้ลุกขึ้นต่อสู้อย่างเป็นอิสระ และ ประทับรอยความพยายามของตนที่จะสร้างสังคมใหม่ตามทางของตนขึ้น แทนที่สังคมเก่าที่ถูกทำลาย ให้กับครรลองแห่งการปฏิวัติทั้งมวล
ยุโรปในปี 1871 นั้น ยังหามีประเทศใดไม่ในภาคพื้นยุโรปที่มีชนชั้นกรรมาชีพเป็นประชาชนส่วนข้างมาก การปฏิวัติ “ของประชาชน” การปฏิวัติที่พัดพาประชาชนส่วนมากลงสู่กระแสธารอันเชี่ยวกรากของการปฏิวัติ, จะเป็นเช่นนั้นได้หากมันครอบคลุมทั้งชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นชาวนา ในขณะนั้นชนสองชั้นนี้แหละที่ประกอบเป็น “ประชาชน” ชนสองชั้นนี้ผลึกเข้าด้วยกันได้เพราะความจริงที่ว่า “กลไกรัฐระบบราชการและทหาร” ได้กดขี่, เหยียบย่ำ, ขูดรีดพวกเขา ดังนั้น การบดขยี้กลไกนี้ การทำลายกลไกนี้ จึงต้องด้วยผลประโยชน์อันแท้จริงของ “ประชาชน” ต้องด้วยผลประโยชน์อันแท้จริงของคนส่วนมาก, ของกรรมกร และชาวนาส่วนใหญ่ และนี่คือ “เงื่อนไขเบื้องแรก” สำหรับการสมานพันธมิตรอย่างเสรี ระหว่างชาวนาผู้ยากจนที่สุดกับชนกรรมาชีพ ซึ่งถ้าปราศจากพันธมิตร ดังกล่าวประชาธิปไตยย่อมไม่คงทนถาวรและการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสังคมนิยมย่อมทำไม่ได้
เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าคอมมูนแห่งปารีสก็พยายามที่จะสร้างพันธมิตรเช่นว่า แม้คอมมูนจะมิอาจบรรลุถึงจุดมุ่งหมายนั้นได้ เนื่องจากสภาวะแวดล้อม หลายอย่างทั้งภายในภายนอกก็ตาม
ฉะนั้น ในการพูดถึง “การปฏิวัติของประชาชนที่แท้จริง” มาร์คซ์ย่อม ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถึงดุลย์กำลังทางชนชั้นที่มีอยู่จริงๆ ในประเทศส่วนมากของยุโรปในปี 1871 และอีกด้านหนึ่งนั้นท่านก็กล่าวว่า “การบดขยี้” กลไกรัฐ เป็นความจำเป็นเพื่อผลประโยชน์ของกรรมกรและชาวนา ว่าการบดขยี้ดังกล่าว จะผนึกชนชั้นทั้งสองเข้าด้วยกัน, พร้อมกันนั้นมันก็จะกำหนดภาระกิจร่วมกัน ให้กับชนชั้นทั้งสองที่จะต้องขจัด “กาฝาก” และแทนที่มันด้วยสิ่งใหม่กว่า สิ่งนั้นคืออะไรเล่า?
ในปี 1847 ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ นั้น คำตอบของมาร์คซ์ต่อปัญหานี้ยังมีลักษณะเป็นนามธรรมอยู่ หรือกล่าวให้ชัดลงไปก็ว่ามันเป็นคำตอบที่บ่งชี้ถึงภาระกิจ แต่มิใช่วิถีทางในอันที่จะบรรลุถึงภาระกิจนั้น คำตอบที่ให้ไว้ใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ก็คือว่า กลไกนี้จะต้องถูกแทนที่ด้วย “ชนชั้นกรรมาชีพ จัดตั้งขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง” ด้วย “การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย”
มาร์คซ์มิได้พึงใจอยู่กับการเพ้อฝัน ท่านหวังใความเจนจัดแห่งความเคลื่อนไหวของมวลชนสนองคำตอบให้กับปัญหาว่า รูปแบบจำเพาะแห่งองค์การจัดตั้งของชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นปกครองดังกล่าวนี้จะเป็นรูปใด และองค์การจัดตั้งนี้จะเชื่อมประสานกับ“การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย” ในลักษณะใด
มาร์คซ์ได้นำความเจนจัดของคอมมูนมาทำการวิเคราะห์อย่างระมัดระวังที่สุดในบทนิพนธ์ชื่อ สงครามการเมืองในฝรั่งเศส ขอให้เรายกข้อความ ที่สำคัญที่สุดจากบทนิพนธ์นี้มาอ้างดังนี้ :
มีกำเนิดจากยุคกลางเป็นต้นมา จึงในศตวรรษที่ 19 “อำนาจรัฐ รวบอำนาจพร้อมด้วยองค์กรที่ชำแรกอยู่ทั่วไปของมันได้แก่ กองทัพประจำการ กำลังตำรวจ ระบบราชการ พระ และกระบวนการยุติธรรม” ได้เกิดขึ้นที่นั่น (ฝรั่งเศส) พร้อมๆ กับการคลี่คลายขยายตัวของความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น ระหว่างทุนกับชนชั้นใช้แรงงาน “อำนาจรัฐจึงมีลักษณะเป็นอำนาจแห่งชาติของทุนเหนือแรงงาน เป็นอำนาจสาธารณะที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกดขี่คนในสังคมลงเป็นทาส เป็นเครื่องจักรกลของระบบเผด็จการทางชนชั้นภายหลังการปฏิวัติทุกครั้งอันเป็น นิมิตหมายของความก้าวหน้าในการต่อสู้ทางชนชั้น ลักษณะกดขี่ใช้อำนาจรัฐจะเผยออกเด่นชัดยิ่งขึ้นทุกที” ภายหลังการปฏิวัติปี 1848-49 อำนาจรัฐได้กลับกลายเป็น “เครื่องจักรกลสงครามแห่งชาติของทุนต่อแรงงาน” จักรวรรดิที่สองสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสิ่งนี้ “รูปแบบที่ตรงกันข้ามกับจักรวรรดิก็คือคอมมูน” มันเป็น “รูปแบบในทางบวก” ของ “สาธารณรัฐที่มิเพียงแต่จะเข้าแทนที่รูปการปกครองชนชั้นแบบราชาธิปไตย แต่จะเข้าแทนที่การปกครองชนชั้นเองเลยทีเดียว”
ก็อะไรเล่าคือรูปแบบ “ในทางบวก” ของสาธารณรัฐของชนชั้นกรรมาชีพนี้ ?
“...กฤษฎีกาฉบับแรกของคอมมูน...คือสั่งยุบกองทัพประจำการแล้ว แทนที่ด้วยประชาชนติดอาวุธ”
มาตรการนี้นับว่าเด่นอยู่ในโครงการของพรรคการเมืองทั้งหลายที่อ้างว่าเป็นสังคมนิยมอยู่ขณะนี้ ทว่าคุณค่าที่แท้จริงของโครงการเหล่านั้น จะเห็นได้ดีที่สุดจากพฤติการณ์ของเหล่าสมาชิกพรรคปฏิวัติสังคมนิยมและพวกเมนเชวิค ซึ่งพอคล้อยหลังการปฏิวัติวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1917 พวกเขาก็พากันปฏิเสธ ที่จะดำเนินตามมาตรการนี้!
“คอมมูนประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาล (municipal councillors) เลือกตั้งโดยการลงคะแนนเสียงทั่วไปจากย่านต่างๆ ของเมือง รับผิดชอบและถอดถอนได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนใหญ่ของสมาชิกเป็นกรรมกร หรือเป็นตัวแทนที่ยอมรับกันในหมู่ชนชั้นกรรมกร...แทนที่จะทำตัวเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางต่อไป ตำรวจก็ได้ถูกขจัดสีสรรทางการเมือง (political attributes) ออกไป กลายเป็นตัวแทนที่รับผิดชอบและถอดถอนได้ตลอดเวลาของคอมมูน รวมทั้งข้าราชการ ทั้งหลายในทุกสาขาบริหารด้วย นับแต่สมาชิกของคอมมูนเรื่อยลงมา บริการสาธารณะต้องกระทำในอัตราค่าจ้างของกรรมกร ผลประโยชน์ในทางอภิสิทธิ์และเงินตอบแทนที่มอบให้กับผู้ทรงยศฐาบรรดาศักดิ์ของรัฐถูกยกเลิกไป พร้อมกับผู้ทรงยศฐาบรรดาศักดิ์เอง...”
“เมื่อได้กำจัดกองทัพประจำการและกำลังตำรวจ อันเป็นกำลังทางวัตถุของรัฐบาลเก่าแล้ว คอมมูนก็ไม่รีรอที่จะทำลายกำลังปราบปรามทางจิตใจ ‘อำนาจพระ’ ลงด้วย...”
“เจ้าหน้าที่ตุลาการที่ถูกปลดเปลื้องออกจากความเป็นอิสระอันจอมปลอม.. พวกเขาต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องรับผิดชอบ และถอดถอนได้”
ดังนี้ดูเหมือนว่าคอมมูนได้แทนที่กลไกรัฐที่ถูกบดขยี้ด้วยระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่า “เพียงเท่านั้น” นั่นคือลบล้างกองทัพประจำการ ข้าราชการทุกคนต้องมาจากเลือกตั้งและถอดถอนได้ตลอดเวลา ทว่าตามที่เป็นจริงแล้ว สิ่งดังกล่าว “เพียงแต่” แสดงให้เห็นว่าได้มีการแทนที่สถาบันบางสถาบันอย่างมโหฬารด้วยสถาบันอีกอย่างหนึ่ง อันอยู่ในลำดับที่แตกต่างกันในขั้นมูลฐานทีเดียว ซึ่งตรงกับ “ปริมาณถูกเปลี่ยนเป็นคุณภาพ” กล่าวคือ ประชาธิปไตยได้ถูกเปลี่ยนจากประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนมาเป็นประชาธิปไตยแรงงาน รัฐ(กำลังพิเศษสำหรับปราบปรามชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง)ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นบางสิ่งที่มิใช่รัฐอย่างแท้จริงอีกต่อไป
ยังนับเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องปราบปรามชนชั้นนายทุนและบดขยี้การต่อต้านของชนชั้นนั้น และสำหรับคอมมูนแล้วยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นใหญ่ เพราะเหตุหนึ่งที่ทำให้คอมมูนปราชัย ก็คือคอมมูนมิได้ทำการทั้งนี้ด้วยความเด็ดขาดพอเพียง แต่ทว่าองค์กรสำหรับปราบปรามในตอนนี้คือประชาชนส่วนข้างมาก มิใช่คนเพียงหยิบมือเดียว ดังที่ปรากฏในระบบทาส ระบบเกษตรกรติดที่ดิน และระบบทาสค่าจ้าง และเนื่องจากประชาชนส่วนข้างมากเองเป็นผู้ปราบปรามเหล่านักกดขี่ “กำลังพิเศษ“สำหรับปราบปราม จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป โดยนัยนี้ รัฐก็จะเริ่มสลายตัว แทนที่จะใช้สถาบันพิเศษของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มย่อย (ระบบข้าราชการอภิสิทธิ์, นายทหารในกองทัพ) คนส่วนข้างมากเองย่อมสามารถปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดนี้โดยสมบูรณ์ และยิ่งหน้าที่แห่งอำนาจรัฐกระจายสู่มือประชาชนส่วนรวมมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความจำเป็นสำหรับการคงอยู่ของอำนาจนี้ น้อยลงเท่านั้น
และมาตรการต่อไปนี้ของคอมมูน ซึ่งมาร์คซ์เน้นเอาไว้ก็น่าสนใจเป็นพิเศษ กล่าวคือ ยกเลิกอภิสิทธิ์เป็นตัวเงินในหมู่ข้าราชการ ยกเลิกเบี้ยหวัดสำหรับผู้ทรงยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐ และลดทอนค่าตอบแทนของข้าราชการทุกคนให้อยู่ในระดับ “ค่าจ้างกรรมกร” สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงการเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน ไปสู่ระบบประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ จากระบบประชาธิปไตยของเหล่านักกดขี่ไปสู่ระบบของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ จากรัฐในฐานะที่เป็น “กำลังพิเศษ” สำหรับปราบปรามชนชั้นหนึ่งไปสู่การปราบปรามเหล่านักกดขี่ด้วยกำลังทั่วไปของประชาชนส่วนข้างมาก อันได้แก่กรรมาชีพและชาวนา
การลดทอนค่าตอบแทนของข้าราชการระดับสูงสุดของรัฐ (ให้อยู่ในระดับค่าจ้างของกรรมกร) ดูเหมือนเป็นมาตรการของระบบประชาธิปไตยบุพกาล เอดเวิด เบอร์นสไตน์ อดีตนักสังคมนิยมประชาธิปไตย “ผู้ก่อตั้ง” ลัทธิฉวยโอกาสในปัจจุบันคนหนึ่ง ชอบกล่าวย้ำซ้ำซากถึงคำเสียดสีเยาะเย้ยของพวกนายทุนต่อระบบประชาธิปไตย “บุพกาล” อยู่เนืองๆ เช่นเดียวกับพวกฉวยโอกาสทั้งหลาย และเช่นเดียวกับพวก“เคาท์สกี้“ในปัจจุบัน เบอร์นสไตน์ไม่อาจเข้าใจได้ว่า หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงจากระบอบทุนนิยมไปสู่ระบอบสังคมนิยมไม่มีทางเป็นไปได้หากปราศจาก “การหวนกลับ” ไปสู่ระบบประชาธิปไตยบุพกาลในบางสิ่งบางอย่าง (มิเช่นนั้นคนส่วนใหญ่ และประชาชนทั้งมวลจะสามารถทำหน้าที่บริหารรัฐได้อย่างไรเล่า?) และ สอง “ระบบประชาธิปไตยบุพกาล” อันมีพื้นฐานอยู่บนระบอบทุนนิยมและวัฒนธรรมแบบทุนนิยม หาได้เหมือนกับระบบประชาธิปไตยบุพกาลในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือยุคก่อนทุนนิยมไม่ วัฒนธรรมแบบทุนนิยมได้สร้างการผลิตขนาดใหญ่ โรงงาน รถไฟ บริการไปรษณีย์ โทรศัพท์ ฯลฯ และบนพื้นฐานนี้เอง บรรดาหน้าที่การงานมากหลายของ“อำนาจรัฐ“เก่า จึงกลายเป็นสิ่งที่ง่ายเข้า สามารถลดอยู่ในระดับปฏิบัติการง่ายๆ ในด้านลงทะเบียน เก็บเอกสาร และตรวจสอบ จนทุกคนที่รู้หนังสือก็สามารถกระทำได้โดยง่ายในอัตรา “ค่าจ้างของกรรมกร” ทั้งหน้าที่การงานเหล่านี้ก็สามารถ (และต้อง) ได้รับกำจัดให้สิ้นซึ่งร่มเงาแห่งอภิสิทธิ์ ให้สิ้นร่องรอยแห่ง “ความโอ่อ่าแบบราชการ”
ข้าราชการทุกคนไม่มีข้อยกเว้น ล้วนมาจากการเลือกตั้งและถูกถอดถอนเมื่อใดก็ได้ เงินเดือนของข้าราชการเหล่านี้ก็ถูกลดอยู่ในระดับ “ค่าจ้างของ กรรมกร” มาตรการประชาธิปไตยง่ายๆ และ “ประจักษ์แจ้ง” ดังกล่าวนี้ นอกจากจะ ช่วยผนึกผลประโยชน์ของกรรมกรและชาวนาส่วนใหญ่แล้ว ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นสะพานนำจากระบอบทุนนิยมไปสู่ระบอบสังคมนิยม อีกทั้งมาตรการเหล่านี้เกี่ยวข้องอยู่กับการสร้างสรรค์รัฐขึ้นมาใหม่ เกี่ยวข้องอยู่กับการสร้างสรรค์สังคมในด้านการเมืองขึ้นมาใหม่ (political reconstruction of society) ทว่าที่จริงแล้ว มาตรการดังกล่าวจะมีความหมายและความสำคัญอย่างสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อมันสัมพันธ์กับ “การริบทรัพย์ของผู้ริบทรัพย์” (expropriation of the expropriators) กล่าวคือต้องเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยผลิตของเหล่านายทุนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของสังคม
”คอมมูน” มาร์คซ์เขียน “ได้ทำให้คำพูดที่กล่าวกันติดปากในการปฏิวัติของชนชั้นนายทุน คือรัฐบาลราคาถูก กลายเป็นความจริงด้วยการทำลายแหล่งรายจ่ายมหึมาสองแหล่ง-กองทัพประจำการและระบบราชการของรัฐ”
จากชนชั้นชาวนาและจากกลุ่มอื่น ๆ ของชนชั้นนายทุนน้อย มีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ “ก้าวถึงจุดยอด” “ดำเนินชีวิตได้ในโลก” ตามความหมายของชนชั้นนายทุน นั่นคือกลายเป็นคนมั่งมี กลายเป็นพวกนายทุน หรือเป็นข้าราชการในตำแหน่งอภิสิทธิ์อันมั่นคง ในประเทศทุนนิยมทุกประเทศที่มีชนชั้นชาวนา (ดังปรากฏอยู่ในประเทศทุนนิยมส่วนมาก) ชาวนาส่วนข้างมากอันไพศาลจะถูกกดขี่จากรัฐบาลอย่างแสนสาหัส พวกเขาต่างรอคอยวันโค่นล้มของมัน รอคอยรัฐบาล“ราคาถูก” การนี้จะสัมฤทธิ์ได้ก็แต่อาศัยชนชั้น กรรมาชีพเท่านั้น และเมื่อชนชั้นกรรมาชีพทำการสัมฤทธิ์แล้ว ก็เท่ากับชนชั้นนั้นก้าวไปอีกขั้นสู่การสร้างสรรค์รัฐใหม่ตามครรลองแห่งสังคมนิยม
”คอมมูน” มาร์คซ์เขียน “จะต้องเป็นองค์กรทำงาน มิใช่รัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่บริหารและนิติบัญญัติไปในขณะเดียวกัน” (was to be a working, not a parliamentary body, executive and legislative at the same time) “แทนที่จะทำหน้าที่ตัดสินครั้งหนึ่งในสามปีหรือหกปี ว่าสมาชิกของชนชั้นปกครอง กลุ่มใดจะเป็นผู้แทนและทำการกดขี่ประชาชนในรัฐสภา การลงคะแนนเสียงทั่วไป จะต้องรับใช้ประชาชนซึ่งประกอบเป็นคอมมูน เช่นกับการลงคะแนนเสียงส่วนบุคคล (individual suffrage) ได้รับใช้นายจ้างในการเสาะหาคนงาน ผู้คุมงานและพนักงานบัญชีสำหรับธุรกิจของตน”
เนื่องจากความแพร่หลายของลัทธิคลั่งชาติสังคมและลัทธิฉวยโอกาส จึงส่งผลให้ข้อวิจารณ์ระบบรัฐสภาอันน่าทึ่งนี้ ซึ่งเขียนไว้ในปี 1871 กลายเป็น“ถ้อยคำที่ถูกลืม“ของลัทธิมาร์คซ์ บรรดารัฐมนตรีอาชีพ สมาชิกรัฐสภา เหล่าผู้ทรยศต่อชนชั้นกรรมาชีพ และนักสังคมนิยม“ทางปฏิบัติ” ทั้งหลายในยุคของเรา ล้วนโยนการวิจารณ์ระบบรัฐสภาทั้งหลายทั้งปวงให้กับพวกอนาธิปัตย์ และบนพื้นฐานอันสมเหตุสมผล อย่างน่าประหลาดนี้เอง พวกเขาจึงประณามการวิจารณ์ระบบรัฐสภาทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็น“อนาธิปไตย” !! จึงไม่น่าประหลาดอันใดที่ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศที่ปกครองด้วยรัฐสภาที่ “เจริญแล้ว” ทั้งหลาย (ซึ่งเหม็นหน้า “นักสังคมนิยม” เช่นพวกไชเดอมันท์, พวกเดวิดส์ ฯลฯ) ต่างหันไปให้ความเห็นอกเห็นใจแก่ ลัทธิอนาโคซินดิกัลลิสม์(อนาธิปัตย์-สหภาพ)เพิ่มขึ้นทุกขณะ ทั้งที่ความจริงลัทธิหลังก็คือพี่น้องฝาแฝดของลัทธิฉวยโอกาส
สำหรับมาร์คซ์แล้ว วิภาษวิธีปฏิบัติ (revolutionary dialectics) จะไม่มีทางเป็นวลีที่ว่างเปล่า เป็นของเด็กเล่น อย่างที่นายเพลคานอฟ นายเคาท์สกี้ และคนอื่นๆ ทำให้เป็น มาร์คซ์รู้ว่าจะแตกหักกับลัทธิอนาธิปไตยอย่างไร เพราะลัทธิอนาธิปไตยไม่สามารถแม้แต่ใช้ประโยชน์จาก “เล้าหมู” ระบบรัฐบาลของชนชั้นนายทุน โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ยังไม่สุกงอมสำหรับการปฏิวัติ แต่ขณะเดียวกันท่านก็รู้ว่าจะนำระบบรัฐสภามาวิจารณ์ตามแนวปฏิบัติของชนชั้นกรรมาชีพที่แท้จริง ได้อย่างไร
เพื่อตัดสินครั้งหนึ่งในทุกสองสามปีว่าสมาชิกของชนชั้นปกครองกลุ่มใดจะเป็นตัวแทนและทำการกดขี่ปราบปรามประชาชนผ่านรัฐสภา-นั่นคือสารัตถะที่แท้จริงของระบบรัฐสภานายทุน มิเพียงแต่ในระบอบกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ แต่รวมทั้งในสาธารณรัฐที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดด้วย
ก็ทางออกจากระบบรัฐสภาคืออะไรเล่า?
ที่จริงทางออกจากระบบรัฐสภามิใช่ล้มล้างสถาบันผู้แทนและหลักการเลือกตั้งทั้งหลาย แต่จะต้องเปลี่ยนสถาบันผู้แทนจากโรงสนทนา (talking shop) มาเป็นองค์กรทำงาน “คอมมูนจะต้องเป็นองค์กรทำงาน ซึ่งทำหน้าที่บริหารและ นิติบัญญัติไปในขณะเดียวกัน มิใช่รัฐสภา”
คอมมูนได้เข้าไปแทนที่ระบบรัฐสภาอันเน่าเฟะและละโมบของสังคมนายทุน ซึ่งเสรีภาพในความคิดเห็น เสรีภาพในการถกเถียงมิได้กลายมาเป็นการโกหกหลอกลวง เพราะสมาชิกสภา(คอมมูน)เองจะต้องทำงาน จะต้องนำกฎหมายไปปฏิบัติ จะต้องทดสอบผลการทำงานของตนกับชีวิตจริง และจะต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อเขตที่ตนรับเลือกตั้ง สถาบันผู้แทนยังคงอยู่ แต่จะไม่มีระบบรัฐสภาในฐานะที่เป็นระบบพิเศษ ซึ่งแบ่งงานระหว่างฝ่ายนิติ บัญญัติกับฝ่ายบริหาร และนำอภิสิทธิ์มาสู่เหล่าสมาชิกรัฐสภา เราไม่อาจคิดฝันถึงระบบประชาธิปไตย แม้แต่ระบบประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ โดยปราศจากสถาบันผู้แทน แต่เราสามารถและต้องคิดฝันถึงระบบประชาธิปไตยที่ปราศจากระบบรัฐสภา
พึงสังเกตว่า ในการพูดถึงหน้าที่ของข้าราชการเหล่านั้น ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับคอมมูน จำเป็นสำหรับระบบประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ มาร์คซ์ได้เปรียบเทียบข้าราชการเหล่านั้นว่าเหมือนกับคนงานของ “นายจ้างอื่น ทุกคน” กล่าวคือการประกอบการแบบทุนนิยม ซึ่งประกอบด้วย “คนงานผู้คุมงาน และพนักงานบัญชี”
ที่กล่าวมานี้ หาได้มีความเพ้อฝันอยู่ในตัวมาร์คซ์ไม่ โดยนัยที่ว่าท่านมิได้คิดหรือประดิษฐ์สังคม “ใหม่” ตรงกันข้าม ท่านได้ศึกษากำเนิดของ สังคมใหม่จากสังคมเก่า ศึกษารูปแบบแห่งการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเก่าไปสู่สังคมใหม่ ในฐานะที่เป็นกระบวนการทางประวัติศาสตร์-ธรรมชาติ ท่านได้ตรวจสอบความเจนจัดที่เกิดขึ้นจริงๆ ของขบวนการมวลชนชั้นกรรมาชีพ และพยายามดึงข้อสรุปทางปฏิบัติจากความเจนจัดนั้น “เรียนรู้“จากคอมมูนเช่นเดียวกับนักคิดปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่ไม่กลัวการเรียนรู้จากความเจนจัดของ ขบวนการอันยิ่งใหญ่ของชนชั้นผู้ถูกกดขี่
ส่วนการล้มล้างระบบราชการโดยทันที ทุกหนทุกแห่งและโดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องอย่าพึงคิดเพราะมันเป็นความเพ้อฝัน แต่การบดขยี้กลไกระบบราชการเก่าโดยทันที แล้วเริ่มต้นสร้างกลไกขึ้นใหม่ ซึ่งจะเอื้อให้สามารถล้มล้างระบบราชการทั้งปวงตามลำดับนั้น สิ่งนี้มิใช่ความเพ้อฝัน สิ่งนี้คือความเจนจัดของคอมมูน สิ่งนี้คือภาระกิจเฉพาะหน้าโดยตรงของชนชั้นกรรมาชีพปฏิวัติ
ระบอบทุนนิยมทำให้หน้าที่การบริหาร “รัฐ” ง่ายเข้า จนอยู่ในวิสัยที่จะตัด“หัวหน้างาน”(boss) ออกไปได้ แล้วปล่อยการดำเนินงานทั้งปวงอยู่ในมือองค์การจัดตั้งของชนชั้นกรรมาชีพ(ในฐานะชนชั้นปกครอง) ซึ่งจะว่าจ้าง “คนงาน ผู้คุมงาน และพนักงานบัญชี” ในนามของสังคมส่วนรวม
เรามิใช่พวกเพ้อฝัน เรามิได้ “ฝัน” ที่จะเลิกการบริหาร เลิกการบังคับบัญชาทั้งปวงในทันที นั่นเป็นความเพ้อฝันของพวกอนาธิปัตย์ อันมีพื้นฐานจากการขาดความเข้าใจถึงภาระกิจเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ เป็นความคิดที่ต่างกับลัทธิมาร์คซ์โดยสิ้นเชิง และมีแต่จะช่วยฉุดชะลอการปฏิวัติสังคมนิยมจนกว่าผู้คนจะแตกต่างไปจากเดิม เราต้องการปฏิวัติสังคมนิยมที่กระทำด้วยผู้คนที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ผู้คนที่ยังมิอาจเลิกการบังคับบัญชา เลิกการควบคุมและ “ผู้คุมงาน และพนักงานบัญชี” เสียได้
ทว่า การบังคับบัญชาต้องตกอยู่ใต้อำนาจของกองหน้าติดอาวุธของประชาชนผู้ใช้แรงงานที่ถูกขูดรีดทั้งมวล นั่นคือชนชั้นกรรมาชีพ การเริ่มต้นสามารถและต้องกระทำในทันทีในฉับพลันที่จะแทนที่หน้าที่ “เป็นหัวหน้า“ของบรรดาข้าราชการของรัฐ ด้วยหน้าที่ง่ายๆ ของ “ผู้คุมงาน และพนักงานบัญชี” หน้าที่ซึ่งอยู่ในขอบเขตความสามารถของชาวเมืองธรรมดาอยู่แล้ว และสามารถ ทำได้ในอัตรา “ค่าจ้างของกรรมกร”
เราชาวกรรมกรจะต้องจัดตั้งการผลิตขนาดใหญ่บนพื้นฐานที่ระบอบทุนนิยมสร้างไว้แล้ว โดยอาศัยความเจนจัดของเราเองในฐานะกรรมกร สถาปนาวินัยเหล็กอันเข้มงวดโดยมีอำนาจรัฐของกรรมกรติดอาวุธหนุนหลัง เราจะต้องลดทอนบทบาทของข้าราชการเหลือแค่บทบาททำตามคำสั่งของเรา ให้พวกเขาเป็น “ผู้คุมงาน และพนักงานบัญชี” ที่รับผิดชอบถอดถอนได้และได้รับค่าจ้างพอสมควร (ที่จริงเราต้องอาศัยความช่วยเหลือของนักเทคนิคทุกชนิด ทุกแบบ และ ทุกระดับด้วย) นี่คือภาระกิจของเราชาวชนกรรมาชีพ นี่คือสิ่งที่เราสามารถและต้องเริ่มขึ้น เพื่อสัมฤทธิ์ซึ่งการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ การเริ่มต้นเช่นว่านั้น อันมีรากฐานอยู่บนการผลิตขนาดใหญ่ โดยตัวมันเองจะนำไปสู่“การสลายตัว“ตามลำดับของระบบราชการทั้งปวง นำไปสู่การสร้างสรรค์ระเบียบอย่างหนึ่งตามลำดับ ระเบียบที่ไม่มีสิ่งใดคล้ายคลึงกับระบบทาสค่าจ้างเลยแม้แต่น้อย ระเบียบที่หน้าที่ควบคุมและทำบัญชีซึ่งง่ายเข้าๆ จะถูกกระทำโดยแต่ละคน สลับกันไป จนกลายเป็นนิสัย หน้าที่พิเศษที่เคยตกอยู่ในมือกลุ่มคนพิเศษ จะตายไปในที่สุด
นักสังคมประชาธิปไตยชาวเยอรมันผู้คมคายคนหนึ่งในทศวรรษที่เจ็ดของศตวรรษที่แล้ว ได้เรียกบริการไปรษณีย์ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ “สังคมนิยม” นับว่าถูกต้องทีเดียว ปัจจุบันบริการไปรษณีย์เป็นธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นตามแนวผูกขาดโดยรัฐนายทุน (state-capitalist monopoly) จักรพรรดินิยม ได้เปลี่ยนธุรกิจผูกขาด(ทรัสต์)ทั้งหลายให้กลายเป็นองค์การทำนองเดียว และเหนือผู้ใช้แรงซึ่งทำงานอย่างหนักหน่วง อดๆ อยากๆ ขึ้นไป ก็คือระบบราชการนั่นเอง ทว่ากลไกในการจัดการทางสังคม (social management) นับว่ามีอยู่พร้อมมูลแล้ว เราเพียงแต่โค่นล้มพวกนายทุน ทำลายการต่อต้านของเหล่านักขูดรีดด้วยมือที่แข็งเหมือนคีมเหล็กของกรรมกรติดอาวุธ บดขยี้กลไกระบบราชการของรัฐปัจจุบันเท่านั้น เราก็จะได้กลไกที่มีทุกสิ่งอยู่พร้อมมูล อย่างวิเศษ กลไกที่ปราศจาก “กาฝาก” กลไกที่ สามารถทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างดีด้วยน้ำมือของกรรมกรที่ผนึกกำลังกัน ซึ่งจะเป็นผู้ว่าจ้างนักเทคนิค ผู้คุมงาน และพนักงานบัญชี แล้วจ่ายค่าตอบแทนให้กับพวกเขาทุกคน (หรือข้าราชการของ “รัฐ” ทุกคน) ในอัตรา “ค่าจ้างกรรมกร” นี่คือภาระกิจในทางปฏิบัติภาระกิจอันเป็นรูปธรรม อันอยู่ในวิสัยที่จะกระทำให้ล่วงไปได้ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจผูกขาด (ทรัสต์) ภาระกิจที่จะช่วยขจัดการขูดรีดให้หมดสิ้นไปจากผู้ใช้แรงงานทั้งมวล ภาระกิจที่สอดคล้องกับสิ่งที่คอมมูนเริ่มกระทำไว้แล้ว (โดยเฉพาะในการสร้างสรรค์รัฐ)
การจัดตั้งชีวิตเศรษฐกิจทั้งมวลของชาติตามแนวของบริการไปรษณีย์ เพื่อว่านักเทคนิค ผู้คุมงานพนักงานบัญชี รวมทั้งข้าราชการทุกคน จะได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่า “ค่าจ้างของกรรมกร” และทั้งหมดนี้อยู่ใต้การควบคุมและการนำของชนชั้นกรรมาชีพติดอาวุธ -นี่แหละคือจุดมุ่งหมายเฉพาะหน้าของเรา รัฐเช่นนี้เอง ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานเศรษฐกิจดังกล่าว คือสิ่งที่เราต้องการ นี่คือสิ่งที่จะนำมาซึ่ง การล้มล้างระบบรัฐสภา ขณะเดียวกันก็ธำรงไว้ซึ่งสถาบันผู้แทน นี่คือสิ่งที่จะขจัดความสกปรกโสมมที่แปดเปื้อนสถาบันเหล่านี้โดยน้ำมือของชนชั้นนายทุนให้ ปราศนาการจากชนชั้นผู้ทำงานทั้งมวล