วลาดิเมียร์ เลนิน 1915

ลัทธิสังคมนิยมกับสงคราม

หลักการของสังคมนิยม กับ การสงคราม ในปี 1914 - 1915

โดย วี ไอ เลนิน
แปลโดย อุยยาม ศศิธร

ท่าทีชาวสังคมนิยมต่อสงคราม

ชาวสังคมนิยมได้ประณามสงครามระหว่างประชาชาติต่าง ๆ เสมอมาว่าป่าเถื่อนและโหดร้าย. แต่ท่าทีต่อสงครามของเราแตกต่างกับท่าทีของนักสันตินิยมชนชั้นนายทุน (ผู้สนับสนุนและผู้เสนอให้มีสันติภาพ) และพวกอนาธิปไตยโดยรากฐาน. เราแตกต่างกับพวกแรกที่เราเข้าใจความเกี่ยวเนื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ระหว่างสงครามกับการต่อสู้ทางชนชั้นภายในประเทศ; เราเข้าใจว่าสงครามย่อมไม่อาจถูกทำลายไปได้นอกเสียจากว่าจะทำลายชนชั้นและสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมขึ้นมา; และเราก็ยังแตกต่างออกไปอีกตรงที่เราถืออย่างเต็มที่ว่าสงครามกลางเมือง, กล่าวคือสงครามที่ชนชั้นถูกกดขี่กระทำต่อชนชั้นที่กดขี่, ที่ทาสกระทำต่อเจ้าทาส, ที่ทาสกสิกรกระทำต่อเจ้าที่ดิน, และที่กรรมาชีพรับจ้างกระทำต่อชนชั้นนายทุน, เป็นสงครามที่ชอบธรรม, ก้าวหน้าและจำเป็น. เราชาวลัทธิมาร์คซ์แตกต่างกับทั้งนักสันตินิยมและทั้งพวกอนาธิปไตยตรงที่เราคิดว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาค้นคว้าสงครามแต่ละครั้งอย่างเป็นประวัติศาสตร์ (จากจุดยืนวัตถุนิยมวิภาษของลัทธิมาร์คซ์) ในประวัติศาสตร์เคยมีสงครามเป็นจำนวนมากซึ่งแม้ว่าจะเต็มไปด้วยภัยพิบัติ, ความทารุณโหดร้าย, ความทุกข์และความทรมานที่ย่อมจะติดตามสงครามทั้งปวงมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้, แต่ก็เป็นสงครามที่ก้าวหน้า คือเป็นทุนแก่พัฒนาการของมนุษยชาติโดยช่วยทำลายสถาบันที่ปฎิกิริยาและมีพิษภัยเป็นพิเศษ(ตัวอย่างเช่น ระบอบอัตตาธิปไตยหรือระบอบทาสกสิกร), ทำลายระบอบทรราชที่ป่าเถื่อนที่สุดในยุโรป(ของตุรกีและรัสเซีย). เพราะฉะนั้น, จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีลักษณะพิเศษทางประวัติศาสตร์ของสงครามเฉพาะหน้านี้.

ประเภททางประวัติศาสตร์ของสงครามในสมัยใหม่

การปฎิวัติฝรั่งเศสได้เริ่มต้นระยะใหม่ขึ้นระยะหนึ่งในประวัติของมนุษยชาติ. นับแต่นั้นจนถึงคอมมูนปารีส, จากปี1789-1871 สงครามประเภทหนึ่งก็คือ สงครามที่มีลักษณะปลดปล่อยประชาชาติ, ที่มีลักษณะก้าวหน้าของชนชั้นนายทุน.กล่าวอีกนัยหนึ่ง, เนื้อหาหลักและความหมายทางประวัติศาสตร์ของสงครามเหล่านี้ก็คือ การโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบขุนนาง, การทำลายพื้นฐานของสถาบันเหล่านี้, การโค่นการกดขี่ของต่างชาติ. เพราะฉะนั้น, สงครามเหล่านี้จึงเป็นสงครามที่ก้าวหน้า, และระหว่างสงครามเช่นนี้ นักประชาธิปไตยที่ปฏิวัติที่จริงใจทุกคน, รวมทั้งชาวสังคมนิยมทุกคนด้วย, จึงได้เอาใจเข้าข้างความสำเร็จของประเทศนั้น(คือของชนชั้นนายทุนนั้น) เสมอมาที่ได้ช่วยโค่น, หรือทำลายรากฐานที่ร้ายกาจที่สุดของขุนนางนิยม, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการกดขี่ประชาชาติอื่น ๆ . ตัวอย่างเช่น, สงครามปฏิวัติที่ฝรั่งเศสได้กระทำ, ถึงจะมีส่วนของการปล้นสะดมและพิชิตดินแดนต่างชาติโดยชาวฝรั่งเศสอยู่ด้วย, แต่นี่ก็ไม่ได้แปรเปลี่ยนความหมายทางประวัติศาสตร์ขั้นมูลฐานของสงครามนี้ที่ได้ทำลายและสลายระบอบขุนนางและระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ในยุโรปเก่าที่เต็มไปด้วยทาสกสิกรไปแม้แต่น้อย. ในสงครามฝรั่งเศส -- ปรัสเซีย, เยอรมันเคยปล้นฝรั่งเศส, แต่นี่ก็มิได้แปรเปลี่ยนความหมายทารงประวัติศาสตร์ของสงครามนี้ที่ได้ปลดปล่อยประชาชนเยอรมันนับสิบ ๆ ล้านคนออกจากการครอบงำของระบอบขุนนางที่กำลังเสื่อมสลายและออกจาการกดขี่ของผู้เผด็จอำนาจ 2 คน, พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียกับนโปเลียนที่ 3.

ความแตกต่างระหว่างสงครามรุกรานกับสงครามป้องกันตัว

ระยะระหว่างปี 1789—1871 ได้ทิ้งรอยประทับที่ลึกซึ้งและความทรงจำที่ปฏิวัติไว้. ก่อนหน้าที่ระบอบขุนนาง, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการกดขี่ของต่างชาติจะถูกโค่น, การต่อสู้เพื่อระบอบสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพไม่อาจพัฒนาไปได้. เมื่อกล่าวถึงความชอบธรรมของสงคราม “ป้องกันตัว” ในส่วนที่สัมพันธ์กับสงครามในระยะเช่นนั้น ทุครั้งชาวสังคมนิยมจะหมายถึงเป้าหมายเหล่านี้นั่นเอง, เป้าหมายซึ่งรวมความได้ว่า เป็นการปฏิวัติต่อระบบรุกรานและระบบทาสรุกรานและระบอบทาสกสิกร. การใช้คำว่าสงคราม “ป้องกันตัว” ชาวสังคมนิยมหมายถึงสงคราม"ที่เป็นธรรม” ในความหมายนี้เสมอ(ดับบลิว ลิบคเนซต์ ครั้งหนึ่งก็เคยแสดงทรรศนะของเขาออกมาเช่นนี้). มีแต่ในความหมายนี้เท่านั้นที่ชาวสังคมนิยมเคยถือ,และเดี๋ยวนี้ก็ถือ,ว่าสงคราม"พิทักษ์ปิตุภูมิ”, หรือสงคราม "ป้องกันตัว”, เป็นสงครามที่ชอบธรรม, ที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม. ตัวอย่างเช่น, ถ้าพรุ่งนี้มอรอคโคประกาศสงครามกับฝรั่งเศส, อินเดียกับอังกฤษ,เปอร์เซียร์หรือจีนกับรัสเซีย, และอื่น ๆ, สงครามเหล่านั้นย่อมจะเป็นสงครามที่เป็นธรรม, เป็นสงคราม "ป้องกันตัว”, โดยไม่ขึ้นกับว่าผู้ใดเป็นฝ่ายโจมตีก่อน; และชาวสังคมนิยมทุกคนก็จะเอาใจเข้าข้างชัยชนะของรัฐที่ถูกกดขี่, ที่เป็นเมืองขึ้น, ที่ไม่ได้รับความเสมอภาค, คัดค้านประเทศ” มหาอำนาจที่กดขี่”, ที่เป็นเจ้าทาส, ที่ปล้นสะดมผู้อื่น.

แต่ท่านลองวาดภาพเจ้าทาสผู้หนึ่งที่มีทาส 100 คน ทำสงครามกับเจ้าทาสอีกผู้หนึ่งที่มีทาส 200 คน เพื่อให้มีการจัดสรรทาส"ที่เป็นธรรม” มากขึ้น. เห็นได้ชัดว่า การนำคำว่าสงคราม"ป้องกันตัว”, หรือสงคราม"เพื่อพิทักษ์ปิตุภูมิ”, มาใช้ในกรณีเช่นนี้ย่อมจะเป็นความผิดทางประวัติศาสตร์, และในทางปฎิบัติก็มีแต่จะเป็นการหลอกลวงประชาชนธรรมดาสามัญ,หลอกลวงผู้ที่ไร้การศึกษา,หลอกลวงตาสีตาสาโดยทาสเจ้าเล่ห์เท่านั้น. ชนชั้นนายทุนจักรพรรดินิยมปัจจุบันก็กำลังหลอกลวงประชาชนประเทศต่าง ๆ อยู่อย่างนี้เองโดยอาศัยความคิดในทาง"ชาติ” และคำว่า “พิทักษ์ปิตุภูมิ” ในสงครามปัจจุบันระหว่างพวกเจ้าทาสเพื่อปกป้องและเสริมความเข้มแข้งให้แก่ระบอบทาส.

สงครามปัจจุบันเป็นสงครามจักรพรรดินิยม

เกือบทุกคนยอมรับว่า สงครามครั้งนี้เป็นสงครามจักรพรรดินิยม, แต่ส่วนใหญ่แล้วคำ ๆ นี้กลับถูกบิดไปหรือใช้กลับอีกฝ่ายหนึ่ง, หรือมีช่องทางเหลือไว้ให้กล่าวได้ว่า, อย่างไรก็ดี,สงครามครั้งนี้อาจมีความหมายในทางปลดปล่อยประชาชาติที่ก้าวหน้าแบบชนชั้นนายทุนก็ได้. จักรพรรดินิยมคือ ขั้นสูงสุดในพัฒนาการของทุนนิยม, ซึ่งเพิ่งบรรลุในศตวรรษที่ 20 นี้เอง.บัดนี้ทุนนิยมได้พบว่า รัฐประชาชาติแบบเก่านั้นคับเกินไปทั้ง ๆ ที่รัฐประชาชาติแบบเก่านี้ หากมิได้สถาปนาขึ้นมาแล้วก็ไม่ย่อมโค่นล้มระบอบขุนนางลงได้. ทุนนิยมได้พัฒนาการรวมศูนย์ไปจนถึงระดับที่ซินดิเคท, ทรัสต์, และสมาคมต่าง ๆ ของบรรดามหาเศรษฐีนายทุนได้เข้ายึดเอาอุตสาหกรรมแขนงต่าง ๆ ไว้หมด, และโลกเกือบทั้งโลกก็ได้ถูกเชือดเฉือนแบ่งปันกันในหมู่เจ้าแห่งทุนไปหมดสิ้น, ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเมืองขึ้นหรือด้วยการผูกมัดประเทศอื่น ๆ ไว้ในสายใยนับพัน ๆ เส้นแห่งการขูดรีดทางการคลัง. การค้าอย่างเสรีและการแข่งขันถูกแทนที่ด้วยการต่อสู้เพื่อผูกขาด, เพื่อยึดครองดินแดนสำหรับการลงทุน, เพื่อแย่งชิงตลาดวัตถุดิบจากดินแดนเหล่านั้น, ฯลฯ.จากการเป็นผู้ปลดปล่อยประชาชาติที่ทุนนิยมต่อสู้กับระบอบขุนนางนั้น ทุนนิยมจักรพรรดินิยมได้กลายเป็นผู้กดขี่ประชาชาติรายใหญ่ที่สุด. จากที่เคยก้าวหน้า, ทุนนิยมได้แปรเปลี่ยนเป็นปฏิกิริยา; มันได้พัฒนาพลังการผลิตไปจนถึงระดับที่ว่ามนุษยชาติต้องเผชิญกับทางเลือก 2 ทาง, ไม่ไปสู่ระบอบสังคมนิยมก็ต้องทรมานอยู่กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธนับเป็นปี ๆ และกระทั่งสิบ ๆ ปีระหว่าง "มหาอำนาจ" ต่าง ๆ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบทุนนิยมอย่างฝืน ๆ โดยอาศัยเมืองขึ้น, การผูกขาด,อภิสิทธิ์และการกดขี่ทางประชาชาติทุกประเภท.

สงครามระหว่างเจ้าทาสรายใหญ่ที่สุดต่าง ๆ เพื่อธำรงรักษาและปกป้องระบบทาส

เพื่อที่จะอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของระบอบจักรพรรดินิยม, เราจะอ้างตัวเลขที่เที่ยงตรงแสดงให้เห็นถึงการแบ่งโลกกันในหมู่ประเทศที่เรียกกันว่า "มหา" อำนาจ (คือทำมหาโจรกรรมสำเร็จ):

การแบ่งโลกกันในหมู่ “มหาอำนาจ” อำนาจเจ้าทาส
  เมืองขึ้น เมืองแม่
  187619141914รวม
“มหา”อำนาจ ตาราง กม. ประชากรตาราง กม.ประชากร ตาราง กม. ประชากร ตาราง กม. ประชากร
  ล้านล้านล้านล้าน
อังกฤษ22.5251.933.5 393.50.346.533.8440.0
รัสเซีย17.015.917.4 33.25.4136.222.8169.4
ฝรั่งเศส0.96.0 10.655.50.539.611.195.1
เยอรมัน--2.9 12.30.564.93.477.2
ญี่ปุ่น--0.8 19.20.453.00.772.2
สหรัฐอเมริกา --0.39.79.497.09.7106.7
6"มหาอำนาจ40.4273.8 65.0523.416.5437.281.5960.6
 
ประเทศเมืองขึ้นที่ไม่ได้ขึ้นกับมหาอำนาจ(แต่ขึ้นกับเบลเยี่ยม, ฮอลันดาและรัฐอื่น ๆ 9.945.3  9.945.3
ประเทศ"กึ่งเมืองขึ้น" ทั้ง 3 (ตุรกี,จีนและเปอร์เซีย) 14.5361.2
 
 รวม105.91,367.1
 
รัฐและประเทศอื่น ๆ 28.0289.9
ทั้งโลก (ไม่นับภูมิภาคแถบขั้วโลก)  133.91,657.0

จากนี้จะเห็นได้ว่า ประชาชาติส่วนใหญ่ซึ่งเคยต่อสู้อยู่หน้าผู้อื่นเพื่อเสรีภาพในช่วง 1789 -1871, หลังจากปี1876, บนพื้นฐานของระบอบทุนนิยมที่ได้พัฒนาอย่างสูงและที่"สุกหง่อม", ได้แปรเปลี่ยนเป็นผู้กดขี่และผู้ทำให้ประชากรและประชาชาติส่วนใหญ่ของโลกตกเป็นทาสอย่างไร. จากปี 1876-1914, “มหา” อำนาจ 6 ประเทศได้รวบพื้นที่ไว้ถึง 25 ล้านตารางกิโลเมตร, เป็นพื้นที่ 1 เท่าครึ่งของทวีปยุโรป ! 6มหาอำนาจได้ทำให้ประชากรของเมืองขึ้นต่าง ๆ กว่า 500 ล้านคน(523 ล้าน) ตกเป็นทาส. ต่อประชากรทุก ๆ 4 คนของประเทศ“มหา” อำนาจต่าง ๆ , มีประชากรของประเทศเมืองขึ้น “ของพวกเขา” อยู่ถึง 5 คน. และทุกคนก็รู้ดีว่า การล่าเมืองขึ้นอาศัยไฟและดาบ, ประชากรของประเทศเมืองขึ้นได้รับการปฎิบัติอย่างทารุณ, พวกเขาถูกขูดรีดด้วยด้วยวิธีการร้อยสีพันอย่าง (การส่งทุนออก, สัมปทานต่าง ๆ , ฯลฯ, การโกงเวลาขายสินค้าให้พวกเขา,การขึ้นต่ออำนาจของชาติ “ที่ปกครอง”, และอื่น ๆ ). ชนชั้นนายทุนอังกฤษ - ฝรั่งเศสได้หลอกลวงประชาชนว่า พวกเขากำลังทำสงครามเพื่อเสรีภาพของประชาชนต่าง ๆ และเพื่อเบลเยี่ยม;แท้จริงพวกเขากำลังทำสงครามเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาไว้ซึ่งเมืองขึ้นที่พวกเขาได้รวบไว้มากมายจนเหลือล้น. พวกจักรพรรดินิยมเยอรมันย่อมจะปล่อยเบลเยี่ยม, ฯลฯ, เป็นอิสระทันทีถ้าอังกฤษและฝรั่งเศสตกลงที่จะให้พวกเขามีส่วนร่วมในการแบ่งปันเมืองขึ้นของพวกตนด้วย” อย่างยุติธรรม”. ลักษณะพิเศษของสถานการณ์ปัจจุบันนี้คือ ชะตากรรมของบรรดาประเทศเมืองขึ้นกำลังถูกตัดสินโดยสงครามบนภาคพื้นยุโรป! จากจุดยืนของความเป็นธรรมและเสรีภาพของประชาชาติ(หรือสิทธิที่จะดำรงอยู่ของประชาชาติต่าง ๆ ) ของชนชั้นนายทุนแล้ว, เยอรมันย่อมจะถูกต้องอย่างสิ้นเชิงหากจะเทียบกับอังกฤษและฝรั่งเศส. ทั้งนี้เพราะเยอรมันได้ส่วนแบ่งปันเมืองขึ้นน้อยเกินไป, พวกศัตรูของเยอรมันกำลังกดขี่ประชาชาติต่าง ๆ อยู่จำนวนมากกว่าที่ตัวเองกำลังกดขี่อยู่อย่างไม่อาจประมาณได้, และชนชาติสลาฟที่ถูกเอ๊าสเตรีย, พันธมิตรของเยอรมันกดขี่อยู่ก็มีเสรีภาพมากกว่าพวกที่ถูกกดขี่อยู่ในรัสเซียของพระเจ้าซาร์, “คุกแห่งประชาชาติ” ที่แท้จริงแห่งนั้นเป็นไหน ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย. แต่เยอรมันไม่ได้ต่อสู้เพื่อการปลดปล่อย, หากเพื่อการกดขี่ประชาชาติต่าง ๆ มันไม่ใช่ธุระของชาวสังคมนิยมที่จะช่วยโจรตัวที่หนุ่มแน่นและแข็งแรงกว่า (เยอรมัน) ให้ไปปล้นพวกโจรที่แก่กว่าและที่กินจนอิ่มหมีพลีมันกว่า. ชาวสังคมนิยมจักต้องใช้ประโยขน์จากการต่อสู้ระหว่างโจรเพื่อโค่นพวกมันทั้งมวล. จะบรรลุสิ่งนี้ได้, ขั้นแรกทีเดียวชาวสังคมนิยมจะต้องบอกความจริงกับประชาชน, คือ , สงครามครั้งนี้เป็นสงครามระหว่างเจ้าทาสเพื่อปกป้องระบบทาสใน 3 ความหมาย. ประการแรกนี่เป็นสงครามที่ทำเพื่อให้ระบอบที่เอาเมืองขึ้นเป็นทาสนั้นเข้มแข็งขึ้นด้วยการแบ่งที่ “เป็นธรรมยิ่งขึ้น” และขูดรีดประเทศเหล่านั้นอย่าง “พร้อมเพรียงกัน” ยิ่งขึ้นในภายหลัง;ประการที่สอง, สงครามครั้งนี้ทำเพื่อให้การกดขี่ประชาชาติอื่น ๆ ในหมู่ประเทศ “มหา” อำนาจเองแข็งแรงขึ้น. ทั้งนี้เพราะทั้งเอ๊าสเตรียและรัสเซียและ (ในรัสเซียมากกว่าและเลวร้ายยิ่งกว่าในเอ๊าสเตรียมาก) ต่างก็ธำรงรักษาการปกครองของพวกเขาไว้ได้ก็แต่โดยอาศัยการกดขี่เช่นนี้เท่านั้น, และทำให้มันรุนแรงขึ้นอีกโดยอาศัยสงคราม; และประการที่สาม, เพื่อปกป้องระบอบทาสรับจ้าง, ทั้งนี้เพราะชนชั้นกรรมาชีพจะถูกทำให้แตกแยกกันและถูกกดไว้, ในขณะที่พวกนายทุนได้ประโยชน์, ,มั่งมีขึ้นมาจากสงคราม,เป็นการยุแหย่อคติทางประชาชาติและความเป็นปฏิกิริยาให้จัดขึ้นความเป็นปฏิกิริยาที่ได้โงหัวของมันขึ้นมาในทุกประเทศแม้ต่ในประเทศสาธารณรัฐที่มีเสรีภาพมากที่สุด

“สงครามคือการต่อเนื่องของการเมืองด้วยวิธีการอื่น” (คือ โดยใช้ความรุนแรง)

วาทะที่ขึ้นชื่อนี้ เคลาสวิตซ์ นักเขียนปัญหาสงครามที่ลึกซึ้งที่สุดผู้หนึ่งเป็นผู้กล่าวไว้ว่า. ชาวลัทธิมาร์คซ์ได้ถืออย่างถูกต้องเสมอมาว่า หลักการนี้เป็นพื้นฐานทางทฤษฎีของทรรศนะเกี่ยวกับความสำคัญของสงครามที่แน่นอนหนึ่ง ๆ ทุกครั้ง. มาร์คซ์และเองเกิลส์ก็ได้พิจารณาสงครามต่าง ๆ ด้วยทรรศนะเช่นนี้ตลอดมา.

ขอให้นำทรรศนะนี้มาใช้กับสงครามในปัจจุบันท่านจะเห็นว่าเป็นเวลาหลายสิบปี, กระทั่งเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว, ที่รัฐบาลและชนชั้นปกครองของอังกฤษ, ผรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, เอ๊าสเตรีย, รัสเซีย, ได้ดำเนินนโยบายปล้นสะดมประเทศเมืองขึ้น, นโยบายกดขี่ประชาชาติอื่น,นโยบายปราบปรามการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพ. สงครามในเฉพาะหน้านี้เป็นการต่อเนื่องของการเมืองชนิดนี้ และก็เป็นได้แต่เพียงการต่อเนื่องของการเมืองชนิดนี้เท่านั้น. ตัวอย่างเช่น นโยบายของเอ๊าสเตรียและรัสเซีย, ไม่ว่าในยามสันติหรือในยามสงคราม, ต่างก็เป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชาติต่าง ๆ ตกเป็นทาสและไม่ใช่การปลดปล่อยประชาชาติต่าง ๆ . ตรงกันข้าม, ในจีน, เปอร์เซีย, อินเดียและประเทศเมืองพึ่งอื่น ๆ , ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้กลับเป็นนโยบายที่ปลุกเร้าประชาชนนับสิบ ๆ นับร้อย ๆ ล้านคน ให้มาสนใจปัญหาชาติ, นโยบายในการปลดปล่อยพวกเขาออกจากการกดขี่ของ “มหา” อำนาจปฎิกิริยา. สงครามภายใต้เงื่อนไขประวัติศาสตร์เช่นนี้ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังสามารถเป็นสงครามที่ก้าวหน้าแบบชนชั้นนายทุน,เป็นสงครามปลดปล่อยประชาชาติ.

หากเหลือบดูสงครามปัจจุบันจากทรรศนะที่ว่ามันเป็นการต่อเนื่องของการเมืองของ "มหา" อำนาจ, และของชนชั้นต่าง ๆ ที่เป็นหลักภายในประเทศเหล่านั้นก็เพียงพอที่จะมองเห็นได้ในทันทีถึงความขัดต่อประวัติศาสตร์, ความจอมปลอมและมารยาที่โจ๋งครึ่มของทรรศนะที่ว่าความคิด “พิทักษ์ปิตุภูมิ” เป็นสิ่งชอบด้วยเหตุผลได้ในสงครามปัจจุบัน.

ตัวอย่างของประเทศเบลเยี่ยม

คำแก้ตัวที่พันธมิตรสังคม--คลั่งชาติทั้งสาม(เดี๋ยวนี้สี่รวมทั้งเพลคฮานอฟกับพวกในรัสเซีย) ชมชอบก็คือตัวอย่างของเบลเยี่ยม. แต่ตัวอย่างนี้มีแต่จะย้อนเอาพวกเขาเอง. จักรพรรดินิยมเยอรมันได้ละเมิดความเป็นกลางของเบลเยี่ยมอย่างไร้ยางอาย. ดั่งที่รัฐคู่สงครามได้กระทำเสมอมาในที่ทุกแห่ง, โดยเหยียบย่ำสนธิสัญญาและพันธะทั้งปวงเสียถ้าจำเป็น. เราลองสมมติว่า รัฐทุกรัฐที้ปรารถนาให้มีการปฎิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ, ประกาศสงครามกับเยอรมัน, เรียกร้องให้ปลดปล่อยและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เบลเยี่ยม, ในกรณีเช่นนั้น,แน่นอน ความเห็นอกเห็นใจของชาวสังคมนิยมย่อมจะอยู่ข้างฝ่ายศัตรูของเยอรมัน. แต่ประเด็นทั้งหมดก็คือ "พันธมิตรทั้งสาม(และสี่)" ไม่ได้กำลังทำสงครามเพื่อเบลเยี่ยม; นี่เป็นที่รู้กันดียิ่ง. และมีแต่คนเจ้ามารยาเท่านั้นที่ปกปิดสิ่งนี้ไว้. อังกฤษกำลังรวบเอาเมืองขึ้นของเยอรมันและตุรกี; รัสเซียกำลังรวบกาลิเซียและรวบตุรกี, ฝรั่งเศสต้องการแคว้นอัลซาล--ลอร์เรนและกระทั่งฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์; ได้มีการทำสนธิสัญญาฉบับหนึ่งกับอิตาลีเพื่อแบ่งปันทรัพย์โจร (อัลบาเนีย, เอเชียน้อย);การต่อรองกับบัลกาเรียและรูมาเนียกำลังดำเนินอยู่ เพื่อการแบ่งปันทรัพย์โจรกันอีกเช่นเคย. ในสงครามที่กระทำโดยรัฐบาลหลายประเทศในปัจจุบันนี้มันเป็นไปไม่ได้ที่จะช่วยเบลเยี่ยมโดยไม่เค้นคอเอาเอ๊าสเตรียหรือตุรกี,ฯลฯ! นี่มีอะไรเกี่ยวพันกับการ"พิทักษ์ปิตุภูมิ" หรือ ? ลักษณะพิเศษของสงครามจักรพรรดินิยม, สงครามระหว่างรัฐบาลชนชั้นนายทุนปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่ได้เสื่อมไปแล้วทางประวัติศาสตร์ที่กระทำเพื่อความประสงค์ในการกดขี่ประชาชนอื่น ๆ ก็อยู่ที่ตรงนี้เอง. ใครก็ตามที่บอกว่าการเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรม, เขาผู้นี้เป็นสิ่งชอบธรรม, เขาผู้นั้นก็จะเป็นผู้ทำให้การกดขี่ประชาชาติต่าง ๆ ของจักรพรรดินิยมมีอยู่ตลอดไป. ใครก็ตามที่สนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากความยุ่งยากลำบากในปัจจุบันของรัฐบาลต่าง ๆ มาดำเนินการต่อสู้เพื่อการปฎิวัติสังคม,เขาผู้นั้นก็จะเป็นผู้ต่อสู้เพื่ออิสระภาพที่แท้จริงของทุกประชาชาติในความเป็นจริง, ซึ่งจะเป็นไปได้ก็มีแต่เมื่ออยู่ในระบอบสังคมนิยมเท่านั้น.

รัสเซียรบเพื่อสิ่งใด?

ในประเทศรัสเซีย, จักรพรรดินิยมทุนนิยมแบบล่าสุดได้เผยตัวของมันเองออกมาอย่างเต็มที่ในนโยบายของพระเจ้าซาร์ที่มีต่อเปอร์เซีย, แมนจูเรียและมองโกเลีย; แต่, โดยทั่วไป,ระบอบจักรพรรดินิยมทหารและขุนนางครอบงำรัสเซียอยู่. ไม่มีประเทศใดในโลกที่ประชากรส่วนใหญ่จะถูกกดขี่มากเท่าในรัสเซีย; ชนชาติรัสเซียใหญ่มีเพียงร้อยละ 43 ของประชากรทั้งหมด,คือน้อยกว่าครึ่ง; ส่วนชนชาติอื่น ๆ ทั้งหมดถูกถือว่าเป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิอะไรเลย. ในจำนวนประชากร 170 ล้านคนในรัสเซีย, มีราว 100 ล้านคนถูกกดขี่และปฎิเสธสิทธิ. ระบอบซาร์กำลังทำสงครามเพื่อยึดกาลิเซีย และเพื่อบดขยี้เสรีภาพของชาวยูเครนและยึดอาเมเนีย, คอนสแตนติโนเปิล, ฯลฯ, ในที่สุดระบบซาร์ถือสงครามเป็นปัจจัยที่จะหันเหความสนใจไปจากความไม่พอใจภายในประเทศที่กำลังทวีขึ้น และปราบปรามการเคลื่อนไหวปฎิวัติที่กำลังขยายตัวออกไป. ปัจจุบันนี้, ชนชาติรัสเซียใหญ่ทุก ๆ 2 คนในรัสเซียจะมี"คนต่างด้าว" ที่ปราศจากสิทธิอยู่ 2 ถึง 3 คน: ระบอบซาร์กำลังดิ้นรนเพื่อจะเพิ่มจำนวนประชาชาติที่ถูกรัสเซียกดขี่, เพื่อที่จะยืดอายุการกดขี่นี้ออกไป, และด้วยประการฉะนี้ก็จะเป็นการบ่อนทำลายการต่อสู้เพื่ออิสระภาพที่ชนชาติรัสเซียเองกำลังดำเนินอยู่, โดยอาศัยสงครามนี้.ความเป็นไปได้ในการกดขี่และปล้นสะดมประชาชาติอื่น ๆ ยิ่งทำให้ความชะงักงันทางเศรษฐกิจมีอยู่ต่อไป, ทั้งนี้เพราะมีอยู่บ่อยครั้งที่แหล่งที่มาของรายได้มิใช่มาจากการพัฒนาพลังการผลิต, หากเป็นการขูดรีดแบบกึ่งขุนนางที่กระทำกับ"คนต่างด้าว"ดังนั้น, ในส่วนของรัสเซีย, การทำสงครามครั้งนี้จึงมีความจำเป็นปฎิกิริยาอย่างลึกล้ำและมีลักษณะที่คัดค้านการปลดปล่อย, เด่นมาก.

อะไรคือลัทธิสังคม --- คลั่งชาติ

ลัทธิสังคม-คลั่งชาติคือการยึดเอาความคิด “พิทักษ์ปิตุภูมิ”ในสงครามครั้งนี้. ยิ่งกว่านั้น, โดยตรรกแล้วความคิดนี้ยังนำไปสู่การละทิ้งการต่อสู้ทางชนชั้นในระหว่างสงคราม, การออกเสียงสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายของสงคราม, ฯลฯ.อันที่จริง, พวกสังคม--คลั่งชาติกำลังดำเนินนโยบายของชนชั้นนายทุนที่คัดค้านชนชั้นกรรมาชีพ; ทั้งนี้เพราะในความเป็นจริงพวกเขามิได้ชูการ“พิทักษ์ปิตุภูมิ” ในแง่ของการต่อสู้กับการกดขี่ของต่างชาติ. หากชู“สิทธิ” ของ “มหา” อำนาจประเทศใดประเทศหนึ่งในอันที่จะปล้นเมืองขึ้น และกดขี่ประชาชาติอื่น ๆ .พวกสังคม -- คลั่งชาตินำคำหลอกลวงประชาชนของชนชั้นนายทุนที่ว่า ทำสงครามเพื่อปกป้องอิสรภาพและการดำรงอยู่ของประชาชาติมากล่าวซ้ำ, และด้วยประการฉะนี้พวกเขาก็ได้ไปยืนอยู่ข้างชนชั้นนายทุนมาคัดค้านชนชั้นกรรมาชีพ. ในหมู่พวกสังคม--คลั่งชาตินี้มีทั้งบรรดาผู้ที่แสดงเหตุผลสนับสนุนและสดุดีรัฐบาลและชนชั้นนายทุนของกลุ่มมหาอำนาจคู่สงครามกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง,มีทั้งคนอย่างเคาทสกี้ที่โต้แย้งว่า ชาวสังคมนิยมของประเทศมหาอำนาจคู่สงครามทุกประเทศมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะ “พิทักษ์ปิตุภูมิ”. ในเมื่อในความเป็นจริงลัทธิสังคม -- คลั่งชาติได้ทำการปกป้องอภิสิทธิ์, ความได้เปรียบ, การโจรกรรมและการใช้ความรุนแรงของชนชั้นนายทุนจักรพรรดินิยมของ “ประเทศตน” (หรือของทุกประเทศ), ฉะนั้นจึงเป็นการทรยศต่อความเชื่อถือทั้งปวงในลัทธิสังคมนิยมและทรยศต่อมติสมัชชาสังคมนิยมสากล ณ เมืองบาเซิลโดยสิ้นเชิง.

แถลงการณ์บาเซิล

แถลงการณ์ว่าด้วยสงครามซึ่งได้ทำขึ้นอย่างเป็นเอกฉันท์ในบาเซิลเมื่อปี 1912 นั้น มุ่งหมายถึงสงครามระหว่างอังกฤษกับเยอรมันและพันธมิตรของทั้งสองประเทศที่ได้ระเบิดขึ้นในปี 1914 นี้นั่นเอง. แถลงการณ์ฉบับนั้นได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่า สงครามที่กระทำเพื่อ "ประโยชน์แห่งผลกำไรของพวกนายทุน" และ "ความทะเยอทะยานของราชวงศ์ต่าง ๆ "บนพื้นฐานของนโยบายปล้นสะดมและจักรพรรดินิยมของบรรดามหาอำนาจนั้น, จะใช้คำว่าเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนใด ๆ มาอ้างให้เป็นความชอบธรรมของสงครามเช่นนั้นไม่ได้. แถลงการณ์ได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าสงครามเป็นภัย “ของรัฐบาลต่าง ๆ” (ทุกรัฐบาลไม่มีข้อยกเว้น), ตั้งข้อสังเกตถึงความหวาดกลัว “การปฎิวัติชนกรรมาชีพ” ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ,และระบุอย่างแจ่มชัดยิ่งถึงแบบอย่างของคอมมูน 1871, และของเดือนตุลาคม--ธันวาคม ปี 1905, กล่าวคือ, แบบอย่างของการปฎิวัติสงครามกลางเมือง. ด้วยประการฉะนี้, แถลงการณ์บาเซิลก็ได้กำหนดยุทธวิธีของการต่อสู้ปฎวัติกับรัฐบาลของตนของกรรมาชีพในขอบเขตสากล, ยุทธวิธีของการปฎิวัติของชนชั้นกรรมาชีพสำหรับสงครามในปัจจุบันนั่นเอง. แถลงการณ์บาเซิลยังได้ย้ำข้อความในมติที่สตุตการ์ตที่ว่า, ในกรณีที่สงครามระเบิดขึ้น, ชาวสังคมนิยมจะต้องใช้ประโยชน์จาก “วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมือง” ที่เกิดจากสงคราม, เพื่อ “เร่งการล่มจมของระบอบทุนนิยม”, กล่าวคือ, ใช้ประโยชน์จากความยากลำบากของรัฐบาลต่าง ๆ และจากความโกรธแค้นของมวลชนซึ่งเกิดขึ้นเพราะสงคราม, ไปทำการปฎิวัติสังคมนิยม.

นโยบายของพวกสังคม--คลั่งชาติ, การให้เหตุผลของเขาสนับสนุนสงครามครั้งนี้จากจุดยืนของการปลดแอกแบบชนชั้นนายทุน, การยอมให้ใช้คำขวัญ “พิทักษ์ปิตุภูมิ”, การลงคะแนนสนับสนุนงบประมาณสงคราม, การเข้าร่วมรัฐบาล, และอื่น ๆ ของพวกเขา, ล้วนเป็นการทรยศต่อลัทธิสังคมนิยมเต็มที่,ซึ่งจะอธิบายได้โดยเพียงชัยชนะของพวกลัทธิฉวยโอกาสและของนโยบายของพวกแรงงานเสรีนิยมแห่งชาติในพรรคส่วนใหญ่ในยุโรป, ดังที่เราจะได้เห็นข้างล่างนี้.

การอ้างมาร์คซ์และเองเกิลส์อย่างผิด ๆ

พวกสังคม -- คลั่งชาติรัสเซีย (ซึ่งเพลคฮานอฟเป็นหัวหน้า) อ้างยุทธวิธีของมาร์คซ์ในสงครามปี 1870 ; พวกสังคม -- คลั่งชาติเยอรมัน (แบบเลนช์, เดวิดกับพวก) อ้างคำพูดของเองเกิลส์เมื่อปี 1891 ที่ว่า ในกรณีที่สงครามเกิดขึ้นกับรัสเซียและฝรั่งเศสรวมกัน, ย่อมเป็นหน้าที่ของชาวสังคมนิยมเยอรมันที่จะพิทักษ์ปิตุภูมิของพวกตน ; และสุดท้าย, พวกสังคม--คลั่งชาติแบบเคาทสกี้ที่ต้องการประนีนอมกับพวกลัทธิคลั่งชาติสากลและทำให้มันเป็นสิ่งชอบธรรม, พวกเขาอางอิงถึงข้อเท็จจริงที่มาร์คซ์และเองเกิลส์, ในขณะที่ประณามสงคราม, ถึงกระนั้น,ตั้งแต่ปี 1854-1855 ถึงปี 1870-1871 และปี 1876-1877, ก็เข้าข้างรัฐที่ทำสงครามไม่ฝ่ายนั้นก็ฝ่ายนี้เสมอเมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว.

การอ้างอิงเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการบิดเบือนทรรศนะของมาร์คซ์และเองเกิลส์อย่างร้ายแรงเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนและพวกลัทธิฉวยโอกาส, แบบเดียวกับข้อเขียนของพวกอนาธิปไตยกิยโยมกับพวกที่บิดเบือนทรรศนะของมาร์คซ์และเองเกิลส์เพื่อทำให้ลัทธิอนาธิปไตยเป็นสิ่งถูกต้อง. สงครามปี1870-1871 ก่อนนโปเลียนที่ 3 ประสบความพ่ายแพ้สงครามที่กล่าวในด้านของเยอรมันแล้วในทางประวัติศาสตร์นั้นก้าวหน้า; เพราะนโปเลียนที่ 3 ได้กดขี่เยอรมันร่วมกับพระเจ้าซาร์มานานหลายปี, ทำให้ประเทศนั้นดำรงอยู่ในภาวะที่ระบอบขุนนางสลายตัว. แต่พอสงครามพัฒนาไปเป็นการปล้นสะดมประเทศฝรั่งเศส (การผนวกแคว้นอัลซาส-ลอร์เรน), มาร์คซ์และเองเกิลส์ก็ได้เน้นประณามเยอรมัน, และแม้กระทั่งในตอนเริ่มสงครามครั้งนั้นมาร์คซ์และเองเกิลส์ก็รับรองการปฏิเสธของเบเบลกับลีบคเนชต์ไม่ลงคะแนนสนับสนุนงบประมาณสงครามแล้วแนะนำชาวสังคม-ประชาธิปไตยไม่ให้รวมกับชนชั้นนายทุน,แต่ให้ยึดถือผลประโยชน์ทางชนชั้นที่เป็นอิสระของชนชั้นกรรมาชีพ. การนำเอาการประเมิณค่าสงครามที่ก้าวหน้าของชนชั้นนายทุนและที่ปลดแอกประชาชาติมาใช้กับสงครามจักพรรดินิยมในปัจจุบันย่อมหมายถึงการเย้ยสัจธรรม. สิ่งเดียวกันนี้ก็ยิ่งเป็นจริงสำหรับสงครามปี 1854-1855, และสงครามในศตวรรษที่ 19 ทั้งหมด, ในขณะที่ยังไม่มีจักรพรรดินิยมสมัยใหม่, ไม่มีเงื่อนไขทางภววิสัยที่สุกงอมสำหรับสังคมนิยม, และไม่มีพรรคสังคมนิยมของมวลชนอยู่ในประเทศคู่สงครามไม่ว่าประเทศใด, กล่าวคือ, ไม่มีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่แถลงการณ์บาเซิลได้ใช้มาอนุมานยุทธวิธีของ"การปฎิวัติชนชั้นกรรมาชีพ" ที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างมหาอำนาจ.

ผู้ใดก็ตามที่อ้างถึงท่าทีของมาร์คซ์ต่อสงครามต่าง ๆ ในระยะที่ชนชั้นนายทุนก้าวหน้าในวันนี้และลืมคำพูดมาร์คซ์ที่ว่า “กรรมาชีพไม่มีปิตุภูมิ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ถูกต้องในระยะที่ชนชั้นนายทุนเสื่อมและปฏิกิริยา, ในระยะของการปฏิวัติสังคมนิยมนี้โดยเฉพาะ, ก็เป็นการบิดเบือนมาร์คซ์และนำเอาทรรศนะชนชั้นนายทุนมาแทนทรรศนะสังคมนิยมอย่างไร้ยางอาย.

การล่มจมของสากลที่สอง

ชาวสังคมนิยมทั่วโลกได้ประกาศอย่างจริงจังที่บาเซิลเมื่อปี 1912 ว่าพวกเขาถือสงครามที่กำลังจะอุบัติขึ้นในยุโรปนั้นเป็นเรื่อง “อาชญากรรม” และปฏิกิริยาที่สุดของรัฐบาลทุกประเทศ มันจะต้องทำให้ระบอบทุนนิยมพังทลายเร็วโดยจะทำให้เกิดปฏิวัติขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สงครามมาถึง วิกฤตมาถึง แต่แทนที่จะใช้ยุทธวิธีที่ปฏิวัติ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยส่วนใหญ่กลับดำเนินยุทธวิธีปฏิกิริยา ไปเข้าข้างรัฐบาลและชนชั้นนายทุนของพวกเขาในแต่ละประเทศ การทรยศต่อลัทธิสังคมนิยมครั้งนี้หมายความถึงการล่มจมของสากลที่สอง (1889-1914) และเราก็จะต้องเข้าใจว่าอะไรทำให้ล่มจม อะไรทำให้เกิดลัทธิสังคม-คลั่งชาติขึ้น อะไรที่ทำให้มันมีพลัง

เขียนในเดือนสิงหาคม 1915

แปลโดย อุยยาม ศศิธร เดิมพิมพ์โดย ชมรมหนังสือ มิตรสาส์น (๒๕๒๓)

สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงานขอขอบคุณผู้แปลและผู้พิมพ์ครั้งแรกในที่นี้ด้วย