อาเลคซานดรา คอลอนไท (1909-18)
รากฐานทางสังคมของปัญหาสตรี
ในขณะที่นักวิชาการทุนนิยมถกเถียงกันเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศ หรือถกเถียงกันว่าเพศไหนเลิศกว่ากัน โดยมีการชั่งน้ำหนักสมอง หรือเปรียบเทียบสรีระในแง่ต่างๆ นักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ยอมรับความแตกต่างตามธรรมชาติระหว่างเพศ และเรียกร้องเพียงแต่ให้มนุษย์แต่ละคน ไม่ว่าจะเพศชายหรือเพศหญิง ต้องมีโอกาสอันอิสระและกว้างขวางที่สุดอย่างเต็มที่ที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง พัฒนาตนเอง และเลือกทางเลือกตามนิสัยใจคอธรรมชาติ นักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ปฏิเสธว่ามีปัญหาของหญิงที่แยกออกจากปัญหาของสังคมปัจจุบัน สภาพพิเศษทางเศรษฐศาสตร์เป็นต้นกำเนิดของการที่สตรีถูกกดขี่ ความแตกต่างทางสรีระธรรมชาติเป็นเรื่องรอง สภาพของหญิงปัจจุบันจะดีขึ้นได้ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาแต่แรก พูดง่ายๆ หญิงจะเสรีและเท่าเทียมชายจริงก็ต่อเมื่อมีโลกที่จัดระบบสังคมและการผลิตในรูปแบบใหม่
แต่การนำเสนอแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าหญิงไม่สามารถพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นระดับหนึ่งภายในกรอบของระบบปัจจุบัน การแก้ปัญหาของกรรมาชีพอย่างถอนรากถอนโคนจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตใหม่ แต่การที่เราเข้าใจความจริงตรงนี้แปลว่าเราไม่สามารถทำงานเพื่อปฏิรูปแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าเพื่อประโยชน์ของกรรมาชีพจริงหรือ? ตรงกันข้าม ทุกสิ่งที่ชนชั้นกรรมาชีพได้มาถือว่าเป็นการก้าวสู่อาณาจักรแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมทางสังคม ทุกสิทธิเสรีภาพที่หญิงต่อสู้ได้มาจะนำพาเธอไปในทิศทางแห่งการปลดแอกเต็มที่
พรรคสังคมนิยมต่างๆ ทั่วโลกเป็นพรรคแรกที่มีนโยบายเรียกร้องให้หญิงมีสิทธิ์เท่าชาย ในคำพูดหรือสิ่งตีพิมพ์พรรคเรียกร้องตลอดให้ยกเลิกข้อจำกัดที่สร้างปัญหาให้หญิง อิทธิพลของพรรคสังคมนิยมเป็นสิ่งที่ผลักดันให้พรรคอื่นและรัฐบาลต่างๆ เริ่มปฏิรูปสังคมเพื่อประโยชน์ของหญิง ในรัสเซียพรรคของเรา(พรรคบอลเชอร์วิค)ชูความเท่าเทียมของหญิงตลอด ไม่ว่าจะเป็นในด้านทฤษฏีหรือในทางปฏิบัติ.....
ข้อเรียกร้องของพวก เฟมมินิสต์ (สิทธิสตรี) ในรัสเซียเพื่อความเท่าเทียมทางการเมือง เหมือนข้อเรียกร้องของพี่น้องเขาในต่างแดน เขาไม่มีและไม่เข้าใจโลกทรรศน์อันกว้างของนักสังคมนิยม พวก เฟมมินิสต์ เรียกร้องความเท่าเทียมในกรอบของสังคมที่ดำรงอยู่ โดยที่เขาไม่คิดจะโจมตีรากฐานของสังคมนี้ เขาต่อสู้เพื่ออภิสิทธิ์ส่วนตัวของเขาเองโดยที่ไม่ท้าทายระบบอภิสิทธิ์ทั้งหมด เราจะไม่โจมตีว่าเขาไม่เข้าใจปัญหาใหญ่ เพราะเรามองว่าจุดยืนของพวก เฟมมินิสต์ หรือของขบวนการสิทธิสตรีของชนชั้นกลางและนายทุนเป็นจุดยืนที่มาจากชนชั้นของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
ก่อนอื่นเราต้องถามว่าขบวนการสิทธิสตรีที่เป็นขบวนการหนึ่งเดียวสร้างได้ไหมในสังคมที่แบ่งแยกทางชนชั้น เพราะนักสังเกตการณ์ที่ไม่ลำเอียงคงต้องยอมรับว่าขบวนการเพื่อสิทธิสตรีปัจจุบันไม่มีเอกภาพ
โลกของหญิงถูกแบ่งแยกเหมือนโลกของชายคือเป็นสองฝ่าย ผลประโยชน์และความหวังของหญิงกลุ่มหนึ่งทำให้เขาใกล้ชิดกับชนชั้นนายทุน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งใกล้ชิดกับชนชั้นกรรมาชีพและการเรียกร้องของกรรมาชีพเพื่อการปลดแอกเต็มที่ที่รวมถึงการปลดแอกหญิงด้วย ดังนั้นถึงแม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะเสนอคำขวัญ ปลดแอกสตรี แต่เป้าหมายและผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายย่อมต่างกันตามผลประโยชน์ทางชนชั้นที่ต่างกัน....
ไม่ว่าข้อเรียกร้องของ เฟมมินิสต์ จะก้าวหน้าเพียงไร เราไม่ควรลืมว่าจุดยืนทางชนชั้นของเขาเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะปลดแอกหญิงอย่างสมบูรณ์
ถ้าในบางยุคภาระระยะสั้นของหญิงจากทุกชนชั้นอาจดูตรงกัน แต่เป้าหมายสุดท้ายต่างกัน และเป้าหมายระยะยาวเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางของขบวนการและยุทธศาสตร์ที่จะต้องใช้ ในขณะที่ เฟมมินิสต์ มองว่าความเท่าเทียมกับชายในกรอบทุนนิยมปัจจุบันเป็นสิ่งที่เพียงพอในรูปธรรม กรรมาชีพหญิงต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกับชายเพื่อเป็นการผลักดันการต่อสู้กับระบบทาสรับจ้างของทุนนิยมด้วย
พวก เฟมมินิสต์ มองชายเป็นศัตรูเพราะชายแย่งชิงอภิสิทธ์ทั้งหลายเป็นของตนเองโดยทิ้งให้หญิงมีแค่โซ่ล่ามตัวและภาระ ชัยชนะของพวก เฟมมินิสต์ คือการนำอภิสิทธิ์ที่ชายเคยครอบครองอย่างผูกขาดมาแบ่งให้ เพศอ่อนหวาน แต่หญิงกรรมาชีพมองต่างมุม เขาไม่มองว่าชายเป็นศัตรูและผู้กดขี่ ตรงกันข้ามเขามองชายดุจสหายที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขในชีวิตประจำวันกับเขาและร่วมต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่า สตรีกรรมาชีพและสหายชายของเขาเป็นทาสของสถานการณ์เดียวกันทางสังคม โซ่อันเลวร้ายของทุนนิยมกดขี่เขาทางจิตใจและทำลายความสุขและเสน่ห์ของชีวิต มันเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายแง่ของระบบปัจจุบันเป็นภาระกับหญิงสองเท่าตัว มันเป็นความจริงด้วยที่ระบบการจ้างงานบางครั้งทำให้กรรมาชีพหญิงเป็นคู่แข่งของกรรมาชีพชาย แต่ชนชั้นกรรมาชีพทราบดีว่าใครเป็นต้นเหตุในการก่อให้เกิดสถานการณ์แบบนี้...
กรรมาชีพหญิงเกลียดชัง ปีศาจเลวร้ายท้องทองคำ ไม่แพ้พี่น้องกรรมาชีพชาย ปีศาจนี้มีแต่ความกระหายอันไม่มีวันสิ้นสุด และได้แต่สูบน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตจากเหยื่อทั้งหลายเพื่อให้ตนเองเจริญเติบโตบนสันหลังชีวิตมนุษย์นับล้าน มันกระโจนใส่ชาย หญิง และเด็กด้วยความโลภเท่าเทียมกัน สายใยนับพันจึงพากรรมาชีพชายเข้าใกล้กรรมาชีพหญิง ส่วนความหวังของหญิงชนชั้นกลางเป็นเรื่องแปลกและห่างไกล มันไม่สร้างความอบอุ่นในหัวใจกรรมาชีพ มันไม่มีคำมั่นสัญญาใดๆ เกี่ยวกับอนาคตอันแจ่มใสที่สายตาผู้ถูกกดขี่แสวงหา
เป้าหมายสุดท้ายของกรรมาชีพหญิงที่มุ่งหวังการปฏิวัติมิได้ห้ามเธอในการเรียกร้องการพัฒนาสถานภาพภายในกรอบระบบนายทุนปัจจุบัน แต่ลักษณะธาตุแท้ของระบบทุนนิยมเป็นอุปสรรคเสมอในการทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นจริงได้ สตรีจะมีสิทธิเท่าเทียมและจะเสรีจริงได้ก็ต่อเมื่อโลกเรามีการจัดระบบแรงงานในรูปแบบส่วนรวมที่มีทั้งความสงบสุขและความยุติธรรมเท่านั้น แต่พวก เฟมมินิสต์ ไม่ยอมและไม่สามารถเข้าใจสิ่งนี้ สำหรับเขา เขามองว่าเมื่อสิทธิเสรีภาพถูกกำหนดไว้ในกฏหมายอย่างเป็นทางการ เขาจะมีที่พักอันสบายในโลกเก่าที่เต็มไปด้วย การกดขี่ แรงงานบังคับ น้ำตาและความยากลำบาก และเขาก็ถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่สำหรับสตรีส่วนใหญ่ที่เป็นกรรมาชีพ สิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับชายเพียงแต่เป็นการแบ่งความไม่เท่าเทียมกัน ส่วนคนกลุ่มน้อยพิเศษที่เป็นสตรีชนชั้นกลางหรือชนชั้นนายทุน ความเท่าเทียมกับชายเปิดประตูไปสู่สิทธิ์และอภิสิทธิ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และชัยชนะของหญิงชนชั้นกลางและนายทุนเพียงแต่เป็นอาวุธสำหรับการขูดรีดพี่น้องสตรีกรรมาชีพต่อ ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหญิงสองค่ายมากขึ้นทุกที
ดังนั้น ปัญหาสตรีทั่วไป หรือความเป็นเอกภาพของภาระหน้าที่และความใฝ่ฝันรวมของหญิง ที่พวก เฟมมินิสต์ พูดถึง อยู่ที่ไหน ผลของการวิเคราะห์แบบรอบคอบจะพบว่าเอกภาพดังกล่าวมีไม่ได้ พวก เฟมมินิสต์ พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะอ้างว่า ปัญหาสตรีทั่วไป ไม่เกี่ยวกับเรื่องของพรรคการเมือง และแก้ได้โดยการนำทุกพรรคทุกฝ่ายและหญิงทั้งหมดมาร่วมกันแก้ อย่างไรก็ตามแม้แต่ เฟมมินิสต์ ก้าวหน้าจากเยอรมันคนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ข้อสรุปแบบใฝ่ฝันอันสะดวกสบายของพวก เฟมมินิสต์ ไม่ตรงกับความเป็นจริง...
สภาพและรูปแบบของระบบการผลิตได้ถมทับสตรีในยุคต่างๆ ของประวัติศาสตร์มนุษย์ และค่อยๆ ผลักดันให้สตรีตกอยู่ในสภาพผู้ถูกกดขี่และผู้ต้องพึ่งพา การพลิกระบบสังคมและเศรษฐกิจอันใหญ่หลวงต้องเกิดขึ้นก่อนที่หญิงจะเริ่มได้เอกราชและความสำคัญกลับคืนมา ปัญหาบางอย่างที่นักคิดผู้มีฝีมือไม่สามารถแก้ไขได้ ได้ถูกแก้ไขไปแล้วโดยสภาพทางวัตถุอันมีพลังของระบบการผลิต พลังดังกล่าวที่เคยทำให้หญิงตกเป็นทาสมาพันๆ ปี ในขั้นตอนที่พัฒนาสูงขึ้น กำลังพาเธอไปสู่เสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเอง....
การต่อสู้ของสตรีชนชั้นกลางและชนชั้นนายทุนเพื่อได้รับโอกาสในการศึกษาและในการประกอบอาชีพเป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดให้กับขบวนการ เฟมมินิสต์ เมื่อหญิงชนชั้นกลางและชนชั้นนายทุนย่างเข้าสู่ตลาดแรงงานเขาประกาศว่าตนเองคือแนวหน้าของขบวนการสิทธิสตรี แต่เขาลืมไปว่าเขากำลังเดินไปในรอยเท้าของน้องสตรีกรรมาชีพ เพราะการต่อสู้เพื่อโอกาสที่จะเลี้ยงชีพตนเองอย่างอิสระในตลาดแรงงานเป็นสิ่งที่หญิงกรรมาชีพได้มานานแล้วเมื่อบุกเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ถ้าพิจารณาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมาชีพหญิงเพื่อการพัฒนาตนเอง ยากที่จะพบกรณีที่ขบวนการ เฟมมินิสต์ ให้ความช่วยเหลือ ความก้าวหน้าที่กรรมาชีพหญิงได้รับล้วนแต่มาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพโดยรวม ดังนั้นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของหญิงกรรมาชีพคือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้นเพื่อปลดแอกตนเอง
หญิงกรรมาชีพเป็นกรรมาชีพในอันดับแรก และมีผลประโยชน์ร่วมกับคนอื่นๆ ในครอบครัวกรรมาชีพ ... ดังนั้นทำไมหญิงกรรมาชีพจะต้องไปแสวงหาแนวร่วมกับพวก เฟมมินิสต์ ชนชั้นกลาง ใครจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากแนวร่วมดังกล่าว คงไม่ใช่สตรีกรรมาชีพแน่ สตรีกรรมาชีพคือผู้ที่จะปลดแอกตัวเขาเอง เขาปกป้องผลประโยชน์ทางชนชั้นของเขาและคงไม่ถูกหลอกลวงโดยผู้ที่กล่าวถึงเรื่อง โลกของผู้หญิงทุกคน หญิงกรรมาชีพต้องไม่ลืมและจะไม่ลืมว่าในขณะที่หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นนายทุนต้องการแสวงหาที่ยืนภายในระบบปัจจุบันที่เป็นปฏิปักษ์กับเรา เป้าหมายของเราคือการล้มโลกเก่าและการสร้างอนาคตอันแจ่มใสของแรงงานสากลในรูปแบบที่มีความสมานฉันท์ ความสุข และเสรีภาพ
การแต่งงานและปัญหาครอบครัว
การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีไม่ใช่แค่เรื่องการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในการได้รับการศึกษาหรือสิทธิในการได้รับค่าจ้างเท่าชาย ถ้าสตรีจะเสรีจริงเธอต้องปลดโซ่อันหนักหน่วงของครอบครัวปัจจุบันที่มีรูปแบบล้าสมัยและกดขี่สตรี สำหรับผู้หญิงการแก้ปัญหาครอบครัวสำคัญไม่น้อยกว่าการได้สิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางการเมืองและเศรษฐกิจ
รูปแบบครอบครัวปัจจุบัน ซึ่งถูกกำหนดมาจากประเพณีและกฏหมายของสังคม ทำให้หญิงถูกกดขี่จากการเป็นคน จากการเป็นเมีย และจากการเป็นแม่ ในหลายประเทศหญิงกลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพาชายในทางกฏหมาย และในกรณีที่การกดขี่ทางกฏหมายสิ้นสุด ยังมีการกดขี่ของ มุมมองสังคม ตามมาอีก บ่อยครั้งหญิงถูกเสนอทางเลือกไว้แค่สองทางคือ การเป็นทาสโดยการแต่งงาน หรือการเป็นหญิงบริการทางเพศ....
ในกรอบของสังคมปัจเจกแบบปัจจุบันเราสามารถมองข้ามการแต่งงานอย่างเป็นทางการเพื่อแสวงหาความรักเสรีโดยไม่ทำลายผลประโยชน์ของสตรีได้หรือไม่ ในกรอบปัจจุบันการแต่งงานคือหลักประกันอันเดียวที่ช่วยปกป้องไม่ให้หญิงต้องรับภาระในการเลี้ยงดูลูกแต่ผู้เดียวตลอดไป ดังนั้นความรักเสรีจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์พื้นฐานทางสังคม และความสัมพันธ์ทางการผลิต ต้องมีการปฏิรูปเพื่อโอนภาระงานจากครอบครัวปัจเจกไปสู่สังคมและรัฐ แต่เราจะหวังอะไรได้จากรัฐปัจจุบันของชนชั้นนายทุนในการรับภาระความเป็นแม่มาเป็นภาระส่วนรวม...
เมื่อหญิงออกไปทำงานและเลี้ยงตนเองได้ ความเป็นไปได้ของความรักเสรีมีมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับหญิงชั้นสูงที่มีรายได้ดี แต่สำหรับหญิงกรรมาชีพที่มีรายได้เกือบไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเอง ความสัมพันธ์ทางเพศ ไม่ว่าจะอยู่ในกรอบการแต่งงานหรือไม่ เป็นเรื่องยากลำบาก ดังนั้นการยกเลิกการจดทะเบียนแต่งงานทางกฏหมายที่พวก เฟมมินิสต์ บางคนเสนอว่าจะปลดแอกหญิงจากครอบครัวได้ เป็นเพียงการต่อสู้กับปัญหานามธรรมโดยไม่พิจารณาโครงสร้างทางการผลิต...
เราอยู่ในโลกแห่งความสัมพันธ์ในรูปแบบทรัพย์สิน โลกแห่งความขัดแย้งทางชนชั้นที่แหลมคม และโลกแห่ง ศีลธรรมแบบปัจเจก เรายังมีชีวิตดำรงอยู่ภายใต้ความวังเวงของวิญญาณที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในระบบปัจจุบันมนุษย์รู้สึกโดดเดี่ยวแม้อยู่ในเมืองแออัดเต็มไปด้วยเสียงคน หรือแม้อยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นมนุษย์มักใฝ่ฝันและพยายามแสวงหา เพื่อนตาย หรือ คู่วิญญาณของตน ในเพศตรงข้ามเสมอ การแสวงหาคู่วิญญาณดังกล่าวเป็นไปอย่างผิดธรรมชาติในลักษณะการหาเหยื่อ เพราะมนุษย์มองว่ามีแต่ความรักเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาความวังเวงได้....
บ่อยครั้งชายกับหญิงเข้าหากันเพื่อแสวงหาตนเองผ่านคนอื่นและเพื่อหาความสุขทางกายและใจ การที่เขาจะแต่งงานกันหรือไม่ไม่สำคัญ แต่ละคนมักจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับคู่ของตนทางจิตใจ พูดง่ายๆ เรารักไม่ค่อยเป็น
ความคิดแบบปัจเจกหยาบๆของยุคปัจจุบันเห็นได้ชัดในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ มนุษย์คนหนึ่งต้องการหนีจากความวังเวงและหลงคิดว่าความรักทำให้เขามีสิทธิ์ในวิญญาณของอีกคน -สิทธิ์ที่จะสร้างความอบอุ่นให้กับตัวเองจากความใกล้ชิดและความเห็นใจ แต่เราถูกสอนให้สนใจแต่ตัวเราเองเท่านั้น เราถูกสอนให้เชื่อว่าเราจะมีความสุขได้จากการ รัก คนที่ใกล้ชิดโดยไม่ต้องเสียสละอะไร
เราเรียกร้องทุกอย่างจากคู่สัญญาของเราอย่างสมบูรณ์ เราไม่สามารถประพฤติตนตามกฏแรกแห่งความรักคือ คิดถึงอีกคนด้วยความเคารพอย่างสูง ในสังคมอนาคตเราจะเรียนรู้รูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ทางเพศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเสรีภาพสมบูรณ์ ความเท่าเทียมจริง และมิตรภาพแท้ แต่สำหรับยุคนี้เราจำต้องทนกับสภาพความหนาวของความโดดเดี่ยว
วิกฤตแห่งความสัมพันธ์ทางเพศแก้ไม่ได้ถ้าเราไม่แก้นิสัยใจคอของมนุษย์อย่างจริงจังเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักคนอื่น และการแก้นิสัยใจคอดังกล่าวของมนุษย์จำต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ นี่คือสัจจะเก่าแก่ แต่ไม่มีทางอื่น
ครอบครัวในระบบคอมมิวนิสต์
ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์จะยังมีสถาบันครอบครัวอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ นี่คือคำถามที่มวลชนสงสัย ... สิ่งที่ทำให้หญิงปัจจุบันสับสนคือการที่กฏหมายหย่าร้างของรัฐบาลโซเวียตถูกเปลี่ยนไปเมื่อธันวาคมปี 1917 ตั้งแต่นี้ไปการหย่าร้างจะเป็นเรื่องง่ายที่ไม่จำเป็นต้องสร้างความโกรธแค้นกัน ใครต้องการขอหย่าจะทำได้ภายในสัปดาห์สองสัปดาห์ แต่ความง่ายของการหย่าร้างที่สร้างความหวังกับหญิงที่ไม่มีความสุขในชีวิตแต่งงาน เป็นสิ่งที่สร้างความหวาดกลัวในหญิงที่ยังหวังพึ่งชาย เขาเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าหญิงต้องเริ่มคุ้นเคยกับการหาแหล่งที่พึ่งอื่นแทนผู้ชาย เช่นพึ่งสังคมหรือรัฐ....
ในระบบทุนนิยมครอบครัวของกรรมาชีพเริ่มแตกสลาย ชีวิตครอบครัวมีค่าอะไรเมื่อทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานหลายชั่วโมงในสถานที่ที่ต่างกัน แม่เกือบไม่มีเวลาทำกับข้าวให้ลูกกิน พ่อกับแม่อยู่นอกบ้าน เกือบ 24 ชั่วโมงโดยที่ไม่มีโอกาสพบกับลูก...
ระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตแบบโบราณ สิ่งที่เคยต้องทำต้องผลิตขึ้นในครอบครัวตอนนี้ผลิตตามโรงงานต่างๆ และเครื่องจักรเข้ามาแทนที่นิ้วมือของหญิงผู้เป็นภรรยาในหลายแง่ สรุปแล้วครอบครัวปัจจุบันกำลังถูกปลดแอกจากภาระต่างๆ ในบ้านมากขึ้นทุกที...
ในระบบคอมมิวนิสต์ของยุคอนาคตงานบ้านจะไม่เป็นหน้าที่ของหญิงในรูปแบบปัจเจกอีกต่อไป แต่จะมีทีมงานพิเศษของหญิงที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะเพื่อปลดปล่อยสตรีจากภาระงานบ้านที่เคยต้องทำในเวลาหลังทำงาน ในสังคมคอมมิวนิสต์ผู้หญิงจะไม่ต้องเสียเวลาว่างอันล้ำค่าในการทำกับข้าว เพราะจะมีโรงอาหารสาธารณะที่บริการทุกคนได้...
ในแง่ของการเลี้ยงดูเด็กก็เหมือนกัน... รัฐของเราได้จัดโรงเลี้ยงเด็กหลายประเภท สถานที่พักผ่อนสำหรับเด็ก โรงอาหารสาธารณะ อาหารกลางวันฟรี หนังสือเรียนฟรี เสื้อผ้าฟรี สิ่งเหล่านี้แสดงว่าภาระการเลี้ยงดูบุตรกำลังค่อยๆ ขยับออกจากลักษณะปัจเจกสู่รูปแบบภาระส่วนรวม...
กรรมาชีพหญิงควรเข้าใจให้ดีว่าสังคมคอมมิวนิสต์ไม่ต้องการที่จะกระชากเด็กเล็กเด็กน้อยจากครอบครัวหรือจากแม่ และเราจะไม่ใช้ความรุนแรงในการทำลายครอบครัวเป็นอันขาด นั้นไม่ใช่เป้าหมายของสังคมคอมมิวนิสต์
สังคมคอมมิวนิสต์เสนอต่อกรรมาชีพหญิงและชายว่า:
ท่านยังอายุน้อย ท่านรักกัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข อย่ากลัวการแต่งงานถึงแม้ว่าการแต่งงานในระบบทุนนิยมเคยเป็นโซ่ล่ามชายกับหญิง ที่สำคัญที่สุดอย่ากลัวการให้กำเนิดของคนงานรุ่นใหม่ พลเมืองใหม่ที่เป็นเด็ก สังคมกรรมาชีพต้องการพลังการผลิตใหม่ๆ เราต้อนรับเด็กเกิดใหม่ทุกคน ท่านไม่ต้องเป็นห่วงอนาคตของลูก ลูกท่านจะไม่รู้จักความหิวหรือความหนาว ลูกของท่านจะไม่ถูกทอดทิ้งและไร้ความสุขเหมือนหลายกรณีในสังคมทุนนิยม เด็กตั้งแต่แรกเกิดและแม่ทุกคนจะได้รับอาหารเพียงพอและการดูแลที่เหมาะสมจากสังคมคอมมิวนิสต์, จากรัฐกรรมาชีพ เด็กทุกคนจะมีอาหารการกิน จะได้รับการเลี้ยงดู และจะได้รับการศึกษาจากบิตุภูมิคอมมิวนิสต์ แต่บิตุภูมินี้จะไม่แย่งลูกของท่านไป ผู้ปกครองใดต้องการมีส่วนร่วมในการให้การศึกษากับลูกก็ทำได้ สังคมคอมมิวนิสต์จะรับภาระในการให้การศึกษาเด็ก แต่ความสุขของการเป็นพ่อแม่จะไม่ถูกแย่งไปจากผู้ใดที่มีความสามารถเพียงพอและเห็นความสำคัญของความสุขประเภทนี้
หญิงที่จะต้องต่อสู้เพื่อปลดปล่อยสังคมกรรมาชีพจะต้องเข้าใจว่าในรัฐใหม่เราจะไม่คิดแบบแบ่งแยกเหมือนเดิม เราจะไม่มองว่า นี่คือลูกของฉันที่ฉันต้องรักและดูแล นั้นคือลูกของคุณ ลูกของเพื่อนบ้าน ฉันไม่สนใจเขา กรรมาชีพหญิงจะพัฒนาจิตสำนึกถึงระดับที่มองแค่ว่าเด็กเล็กเด็กน้อยทุกคนเป็น ลูกของเรา
จากซากเก่าของครอบครัวเดิมเราจะเห็นรูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชายในสังคมคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะเป็นสหพันธ์แห่งความรัก และความสมานฉันท์ สหพันธ์ของสองคนชาวกรรมาชีพที่มีเสรีภาพ พึ่งตนเองได้ และมีความเท่าเทียมกัน... การแต่งงานจะถูกแปรไปเป็นความผูกพันอิสระและเสรีระหว่างสองวิญญาณบนพื้นฐานความรักที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องเงินตรา... ธงแดงแห่งการปฏิวัติสังคมประกาศกับเราว่าในไม่ช้าสวรรค์ที่มนุษย์ใฝ่ฝันถึงมานานจะเกิดบนโลกนี้แล้ว
บทความชิ้นนี้มาจากการคัดเลือกบางตอนจากงาน 3 ชิ้นของ Alexandra Kollontai ดังนี้คือ (1) The social basis of the woman question 1909, (2) Sexual relations and the class struggle 1911 และ (3) Communism and the family 1918 เรียบเรียงและแปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ จากหนังสือ Alexandra Kollontai (1998) On Women's Liberation เรียบเรียงโดย Chanie Rosenberg, Bookmarks, London.
อาเลคซานดรา คอลอนไท เป็นชาวรัสเซียเกิดในปี 1872 ในครอบครัวขุนนางที่มีความคิดก้าวหน้า ในปี 1892 คอลอนไท แต่งงานและมีลูกชายหนึ่งคน แต่ในปี 1898 เธอเริ่มทำงานเคลื่อนไหวเป็นนักมาร์คซิสต์ในกลุ่มศึกษาที่เลนินจัดตั้งขึ้น การทำงานดังกล่าวมีผลให้เธอเริ่มห่างเหินจากสามีในด้านความคิดทางการเมือง และในที่สุดเธอจำใจต้องจากลูกชายที่รักของเธอไปเพื่อไปทำงานการเมืองแบบอิสระ
ในปี 1915 คอลอนไท สมัครเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค และในต้นปี 1917 หลังการปฏิวัติขั้นตอนแรก เธออยู่ในหมู่สมาชิกกลุ่มน้อยของคณะกรรมการกลางของพรรคที่ไปต้อนรับเลนินที่สถานีรถไฟฟินแลนด์ เพราะในยุคนั้นผู้นำหลายคนของพรรค รวมถึงสตาลิน มองว่าเลนินมีความคิดซ้ายไร้เดียงสาสุดขั้วเนื่องจากเลนินเรียกร้องให้มีการปฏิวัติต่อไปสู่สังคมนิยมทันที หลังจากนั้น คอลอนไท ได้รับหน้าที่ในการปลุกระดมทหารเรือบนเรือรบที่จอดอยู่ใกล้เมืองหลวง คำพูดของ คอลอนไท มีทั้งพลังของจิตใจและเหตุผลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการชักชวนให้ทหารเรือส่วนใหญ่หันมาสนับสนุนพรรคบอลเชวิคและการปฏิวัติขั้นตอนต่อไป หนึ่งในผู้นำพรรคซึ่งเป็นทหารเรือในขณะนั้นคือ พาเวล์ ไดเบงโค ซึ่งในไม่ช้ากลายเป็นคู่รักคนหนึ่งของ คอลอนไท
คอลอนไท เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่สำคัญที่สุดในช่วงการปฏิวัติ 1917 หลังการปฏิวัติขั้นตอนที่สองที่นำไปสู่รัฐกรรมาชีพในเดือนตุลาคม คอลอนไท ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม และในตำแหน่งนี้เธอมีส่วนในการนำเสนอกฏหมายที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกในยุคนั้น หลังการปฏิวัติสตรีรัสเซียได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้งก่อนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รัฐบาลพรรคบอลเชวิคออกกฏหมายปกป้องสิทธิสตรี กฏหมายเพื่อปฏิรูปการหย่าร้างให้ง่ายและรวดเร็ว และกฏหมายสนับสนุนสิทธิในการคุมกำเนิดและการทำแท้ง นอกจากนี้รัฐบาลได้จัดตั้งโรงเรียนอนุบาล โรงเลี้ยงเด็ก โรงอาหาร และโรงซักผ้าสาธารณะ เพื่อ แยกครัวออกจากการแต่งงาน
คอลอนไท คัดค้านแนวทางเฟมมินิสต์ของขบวนการสิทธิสตรีชนชั้นกลางและชนชั้นนายทุนที่มองชายเป็นศัตรูและหวังปฏิรูปสถานภาพหญิงในกรอบของทุนนิยม เธอเน้นการต่อสู้ของหญิงในรูปแบบชนชั้นตลอด ในขณะเดียวกันเธอมองว่าท่ามกลางการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพหญิงจะไม่ได้รับการปลดแอกโดยอัตโนมัติแต่ต้องมีการรณรงค์ต่อสู้ในหมู่หญิงชายเพื่อกวาดล้างความคิดเก่าๆ จากสังคมเดิมให้หมดสิ้นไป
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของ คอลอนไท คือความคิดของเธอเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศซึ่งแสดงความก้าวหน้า ความสลับสับซ้อน และความละเอียดอ่อนล้ำหน้านักคิดอื่นๆ ในสมัยนั้น แต่ความฝันของเธอที่จะเห็นสังคมคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นอย่างถาวรในรัสเซียก็ถูกทำลายเมื่อรัสเซียถูกโดดเดี่ยวในโลกแห่งทุนนิยมหลังความล้มเหลวของการปฏิวัติในเยอรมัน ความล้มเหลวของการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียหลังจากนั้นและการขึ้นมามีอำนาจของเผด็จการปฏิกิริยา สตาลิน ได้ทำลายความก้าวหน้าทุกอย่างที่มาจากการปฏิวัติ 1917 รวมถึงสิทธิเสรีภาพของสตรีด้วย
ก่อนที่สตาลินจะขึ้นมามีอำนาจ อาเลคซานดรา คอลอนไท มีความเห็นแตกต่างจากเลนิน โดยเฉพาะในยุคที่พรรคบอลเชวิคเสนอให้ถอยหลังชั่วคราวเพื่อรักษาสถานการณ์ในปี 1921 คอลอนไท ไม่เห็นด้วยกับ นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy) ที่ฟื้นฟูบางแง่ของกลไกตลาดเพื่อซื้อเวลาให้กับรัฐกรรมาชีพที่ยังอยู่ในวัยอ่อน ผลของความขัดแย้งนี้ทำให้ คอลอนไท ห่างเหินจากรัฐบาลพรรคบอลเชวิคและในที่สุดต้องเดินทางออกนอกประเทศไปเป็นทูตรัสเซียที่ประเทศสแกนดีเนเวียและเมกซีโค
ในปี 1923 คอลอนไท แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ความรักในหมู่ผึ่งกรรมกร (Love of worker bees) ซึ่งเป็นหนังสือกึ่งนิยายที่บรรยายถึงความเสื่อมโทรมของความสัมพันธ์ก้าวหน้าระหว่างหญิงและชายในยุค นโยบายเศรษฐกิจใหม่ หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงถอยหลังลงคลองที่ก่อให้เกิดการคอรรับชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เติบโตจากนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าว หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมสตาลินสามารถยึดอำนาจในนามของ ข้าราชการแดงยุคใหม่ และในที่สุดสามารถทำลายการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียได้
แนวคิดสายสตาลินได้ขยายตัวออกไปสู่พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทยด้วย ถ้าเราวิเคราะแนวคิดเรื่องสิทธิสตรีของ พ.ค.ท. จะพบว่าถึงแม้ว่า พ.ค.ท. พูดถึงสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิงในนามธรรม แต่ในรูปธรรม พ.ค.ท. มีความคิดคับแคบและล้าหลังมาก ถ้าเทียบกับความคิดของ คอลอนไท โดยเฉพาะในเรื่องของเสรีภาพแท้ในความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง ในขณะที่แนวคิดสายสตาลินล่มสลายหลังปี 1989 ความคิดเรื่องการปลดแอกสตรีของ อาเลคซานดรา คอลอนไท เป็นความคิดที่มีพลังสำหรับทุกวันนี้และสำหรับการต่อสู้เพื่อสังคมใหม่ในอนาคต นอกจากนี้งานของ คอลอนไท เป็นตัวอย่างที่สำคัญของแนวคิดสิทธิสตรีมาร์คซิสต์
ใจ อึ๊งภากรณ์