อันโตนิโอ กรัมชี่ (1932)
เราสามารถเปรียบเทียบ สงครามทางจุดยืน และ สงครามขับเคลื่อน แบบรัฐศาสตร์และแบบทางทหารได้อย่างไร? ในสงครามขับเคลื่อนของรัฐศาสตร์ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเช่นวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอาจเปรียบเสมือนปืนใหญ่ในสนามรบที่เปิดช่องทางให้กองทัพรุกเข้าไปสู่ดินแดนของฝ่ายตรงข้าม แต่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจอาจมีผลมากกว่าปืนใหญ่ในสนามรบเพราะ ๑) ก่อให้เกิดความสับสนในฝ่ายศัตรู(นายทุน)จนไม่มีกำลังใจในความสามารถที่จะปกป้องตัวเอง และไม่มีกำลังใจในอนาคตของตนเองด้วย ๒) มีส่วนในการปลุกระดมและจัดตั้งผู้ปฏิบัติการของฝ่ายกรรมาชีพที่เคยกระจัดกระจาย และ(๓) มีผลในการรวมศูนย์ความคิดของฝ่ายกรรมาชีพในแง่ของภาระกิจเฉพาะหน้า ....
ในสนามรบ นายพลต่างๆ มีความเห็นว่าในกรณีการทำสงครามในประเทศพัฒนาแล้ว การสร้างโอกาสเพื่อเอาเปรียบศัตรูสำคัญพอๆ กับยุทธศาสตร์ในการรุกสู้ .... ในทำนองเดียวกันในวิชารัฐศาสตร์เราควรเข้าใจว่าในกรณีรัฐพัฒนา ที่มีโครงสร้าง ประชาสังคม ที่สลับสับซ้อน ประชาสังคมนี้สามารถปกป้องอำนาจรัฐจากการถล่มทางเศรษฐกิจที่อาจมาจากวิกฤตได้ โครงสร้างต่างๆ ของประชาสังคมเปรียบเสมือนสนามเพลาะที่ใช้ปกป้องพื้นที่บนสมรภูมิในการทำสงคราม ในการทำสงครามบางครั้งการถล่มจากปืนใหญ่ทำให้เราหลงคิดว่ากองกำลังของฝ่ายตรงข้ามถูกทำลาย แต่พอฝ่ายเรารุกสู้เข้าไปในดินแดนของศัตรูจะพบว่ายังมีความสามารถในการปกป้องตนเองอยู่ ในด้านการเมืองของประเทศที่เจริญก็เหมือนกัน เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจผลของปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวในประเทศพัฒนาไม่เพียงพอที่จะทำลายขวัญและกำลังของผู้ที่ปกป้องรักษาระบบและไม่สามารถที่จะให้เปรียบหรือโอกาสกับฝ่ายรุกสู้ได้ .... ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องศึกษาส่วนต่างๆ ของ ประชาสังคม ที่มีหน้าที่ปกป้องระบบจาก สงครามขับเคลื่อนดังกล่าว .....
สงครามขับเคลื่อน หรือสงครามรุกสู้กระทำได้ต่อเมื่อมวลชนพร้อมที่จะเสียสละอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดว่าจะได้รับชัยชนะหรือไม่คือการครองใจทางความคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง...
จากบทความที่คัดเลือกจาก สมุดบันทึกจากคุก
Forgacs (1999) หน้า 225-230