ทุนนิยมโดยรัฐ

แนะนำทฤษฎีทุนนิยมโดยรัฐของ โทนี่ คลิฟ

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ทฤษฎีทุนนิยมโดยรัฐของโทนี่ คลิฟ เป็นทฤษฎีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับแนวทางลัทธิมาร์คซ์ในยุคปัจจุบัน เพราะทฤษฎีนี้จะเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงความคิดเดิมของ มาร์คซ์, เองเกิลส์, เลนิน, และตรอทสกี กับการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมในอนาคต

หลังการล่มสลายของระบบลัทธิสตาลินในรัสเซียและยุโรปตะวันออก และการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ของไทยเอง อดีตนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายทั้งหลายแหล่พากันหมดกำลังใจ เพราะหลงคิดว่าสิ่งที่ล่มสลายไปคือ"สังคมนิยม” มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวกลุ่มเดียวเท่านั้น ที่มีปฏิกิริยาตรงกันข้าม กลุ่มนักสังคมนิยมมาคซิสต์สำนักโทนี่ คลิฟ ที่ปัจจุบันกำลังสร้างองค์กรในสากลสังคมนิยม (International Socialist Tendency) ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกลุ่มประชาธิปไตยแรงงานในประเทศไทย เข้าใจว่าการล่มสลายของการปกครองแนวสตาลิน-เหมาเป็นเรื่องดี เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้กรรมาชีพโลกเริ่มสร้างสังคมนิยมจริงๆใหม่ได้

สาเหตุที่สำนักมาร์คซิสต์ โทนี่ คลิฟ เชื่อว่าสังคมนิยมมีอนาคตก็เพราะ โทนี่ คลิฟ ได้เสนอว่าประเทศต่างๆ ที่ปกครองโดยระบบลัทธิสตาลินเป็นประเทศ "ทุนนิยมโดยรัฐ" (State Capitalist) ไม่ใช่สังคมนิยม ฉนั้นสิ่งที่ล่มสลายไปคือระบบเผด็จการสตาลินของทุนนิยมโดยรัฐเท่านั้น

บทความของ โทนี่ คลิฟ ที่รวบรวมมาในหนังสือเล่มนี้ได้มาจากสามแหล่ง ส่วนแรกมาจากหนังสือ State Capitalism in Russia (ทุนนิยมโดยรัฐในรัสเซีย) ของ คลิฟ ที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1948 (ฉบับที่ใช้แปลเป็นไทยคือฉบับตีพิมพ์ปี 1974 ของ Pluto Press) ส่วนที่สองเป็นส่วนที่เกี่ยวกับประเทศจีนภายใต้การปกครองของเหมาเจ๋อตุง ซึ่งคลิฟเขียนในปี 1957 ในวารสาร Socialist Review ซึ่งวารสารนี้เป็นวารสารรายเดือนของพรรคสังคมนิยมกรรมาชีพอังกฤษที่คลิฟเป็นผู้ก่อตั้ง ส่วนสุดท้ายมาจากบทสัมภาษณ์โทนี่ คลิฟในวารสาร Socialist Review เดือน กรกฎาคม/สิงหาคม 1998

ถ้าเราเชื่อหลักสำคัญของลัทธิมาร์คซ์ว่าสังคมนิยมต้องมาจากการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพพื้นฐานเอง การที่รัฐสตาลินของรัสเซียลงโทษการนัดหยุดงานของกรรมกรด้วยการประหารชีวิต น่าจะพิสูจน์ว่ารัฐนั้นไม่ใช่รัฐของกรรมาชีพ แต่สิ่งที่โทนี่ คลิฟ ได้ให้กับเราคือพื้นฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนหลักฐานทางการเมืองเกี่ยวกับเผด็จการลัทธิสตาลิน ข้อมูลทางเศรษฐกิจนี้พิสูจน์ว่าความป่าเถื่อนของเผด็จการรัสเซียและจีนดำรงอยู่บนพื้นฐานการผลิตที่มีการกดขี่ขูดรีดส่วนเกินแบบทุนนิยม แต่ในกรณีนี้กระทำโดยรัฐ ไม่ใช่นายทุนเอกชน งานของคลิฟเป็นการนำวิธีการมาร์คซิสต์มาใช้ในการวิเคราะห์สังคมประเทศเหล่านั้น เพราะแนวความคิดมาร์คซิสต์จะปฏิเสธการแบ่งแยกระหว่าง"เศรษฐศาสตร์” กับ “การเมือง” ฉนั้นนัก “มาร์คซีสต์” ทั้งหลายที่อ้างว่า"รัสเซียกับจีนเป็นสังคมนิยมแต่อาจมีปัญหาทางการเมืองเกี่ยวกับผู้นำ ที่บ้าอำนาจเผด็จการเท่านั้น” เป็นคนที่ลืมหลักการสำคัญของลัทธิมาร์คซ์

จุดยืนของโทนี่ คลิฟ เริ่มต้นจากจุดยืนของสำนักคิด ตรอทสกี ที่มองเห็นความชั่วร้ายของการปกครองลัทธิสตาลินอย่างชัดเจน ตรอทสกี ก่อนที่จะถูกลูกน้องสตาลินฆ่าตาย ได้วิเคราะห์ว่ารัสเซียเป็น "รัฐกรรมาชีพที่เสื่อมโทรม" ฉนั้นลูกศิษย์ ของตรอทสกีในขบวนการ “สากลที่สี่” (Fourth International) จะยึดติดกับการวิเคราะห์แบบนี้ แต่โทนี่ คลิฟ ได้พัฒนาทฤษฎีของเขาเพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาการปกครองลัทธิสตาลินไปถึงอีกระดับหนึ่ง


1. ทฤษฎีทุนนิยมโดยรัฐ

โดย โทนี่ คลิฟ
แปลจากหนังสือ State Capitalism in Russia โดย Tony cliff (1974) Pluto Press, London โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
เศรษฐกิจและสังคมในรัสเซียสมัยสตาลิน

(1) การควบคุมการผลิต (หน้า 11)

หลังจากการปฏิวัติรัสเซีย1917 การบริหารโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพแรงงาน โดยรวมแล้วภาคอุตสาหกรรมทั้งภาคจะควบคุมโดยคณะกรรมการไตรภาคี (Troika) ระหว่างสหภาพแรงงาน พรรค และผู้เชี่ยวชาญ แต่เมื่อกลุ่มข้าราชการในพรรคและในสหภาพมีบทบาทมากขึ้นไตรภาคีนี้เริ่มเป็นเพียงภาพพจน์ของการควบคุมการผลิตโดยคนงาน เพราะข้าราชการเริ่มมีอำนาจมากกว่าแรงงานพื้นฐาน อย่างไรก็ตามคนงานพื้นฐานยังกดดันองค์กรนี้ได้ระดับหนึ่ง แต่หลังจากแผนเศรษฐกิจห้าปีแผนแรกของสตาลิน องค์กรไตรภาคีเริ่มเป็นอุปสรรค์ต่อนโยบายเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งการสะสมทุนเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของกรรมกร ฉนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1928 กรรมการเศรษฐกิจสูงสุดได้พิมพ์เอกสารออกมาชื่อ “ระเบียบพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพนักงานบริหาร พนักงานผู้เชี่ยวชาญ และพนักงานซ่อมบำรุงใน ธุรกิจอุตสาหกรรม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะทำลายระบบควบคุมโดยไตรภาคี และเปลี่ยนไปเป็นระบบควบคุมโดยผู้จัดการฝ่ายบริหารฝ่ายเดียว (1)

ในเดือนกันยายน 1929 คณะกรรมการกลางของพรรคมีมติออกมาว่ากรรมการคนงาน “ต้องไม่แทรกแซงการทำงานโดยตรงของโรงงานอุตสาหกรรม หรือพยายามเปลี่ยนคณะบริหารโรงงาน และจะต้องช่วยส่งเสริมระบบบริหารที่มีผู้บริหารเพียงคนเดียว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ช่วยพัฒนาการผลิต เพื่อสร้างฐานะที่ดีขึ้นทางวัตถุให้ชนชั้นกรรมาชีพ” (2) ฉนั้นผู้บริหารผู้เดียวกลายเป็น ผู้ควบคุมโรงงานและคำสั่งของเขาเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจทุกคำสั่งเป็นสิ่งที่ “พนักงานและคนงานทุกคนต้องทำตาม” (3)

ระบบไตรภาคีเพื่อควบคุมการผลิตถูกฝังดินเป็นทางการในปี 1937 ในการประชุมกรรมการกลาง เมื่อ ซาดานอฟ ผู้นำที่มีอำนาจรองลงมาจาก สตาลิน พูดว่า “ระบบควบคุมไตรภาคีเป็นระบบที่เราต้องปฏิเสธ ระบบไตรภาคีเป็นระบบบริหารแบบคณะ แต่ระบบบริหารเศรษฐกิจของเราสร้างขึ้นในรูปแบบอื่น"

(2) คนงานไม่มีสิทธิรวมตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ (หน้า 15)

ภายใต้การนำของเลนินและตรอทสกี กรรมกรมีสิทธิที่จะป้องกันตัวจากรัฐของตนเอง เลนินเคยพูดว่า “รัฐเราปัจจุบันเป็นรัฐกรรมาชีพที่พิการไปในรูปแบบรัฐข้าราชการ รัฐเรามีรูปแบบที่บังคับให้ชนชั้นกรรมาชีพต้องรวมตัวกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง และเราจำเป็นต้องใช้องค์กรของการรวมตัว อย่างเสรีของกรรมกรเหล่านี้เพื่อปกป้องกรรมกรจากรัฐของเขาเอง เพื่อที่จะปกป้องรัฐกรรมาชีพของเราในที่สุด” (5)

ทุกคนยอมรับว่าไม่ควรมีการปราบปรามการนัดหยุดงาน ในการ ประชุมสภาพรรคครั้งที่ 8 มีผู้นำคนเดียว ชื่อ มิลิยูทินที่เสนอว่า ควรมีการห้ามปรามการนัดหยุดงานในรัฐวิสาหกิจ คนอื่นเสนอว่าเป็นหน้าที่ของสมาชิกพรรคทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการนัดหยุดงาน ถึงแม้ว่าสมาชิกพรรคอาจไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการนัดหยุดงาน ดังนั้นในช่วงหลังการปฏิวัติ 1917 มีการนัดหยุดงานบ่อยครั้ง เช่นในปี 1922 คนงาน 192,000 คนหยุดงานในรัฐวิสาหกิจ หลังจากนั้นในปี 1923 มีกรรมกรหยุดงาน 165,000 คน ในปี 1924 หยุดงาน 43,000 คน ในปี 1925 หยุดงาน 34,000 คน ในปี 1926 หยุดงาน 32,900 คน ในปี 1927 หยุดงาน 20,100 คน และในครึ่งปีแรกของ 1928 หยุดงาน 8,900 คน ถ้านับคนงานทั้งหมดนอกเหนือจากรัฐวิสาหกิจแล้ว ในปี 1922 มีคนงานหยุดงาน 3.5 ล้านคน และใน ปี 1923 หยุดงานถึง 1.5 ล้านคน (6)

ปัจจุบัน(*) สหภาพแรงงาน ซึ่งอาจเรียกเป็นสหภาพจริงๆไม่ได้ ไม่เคยปกป้องผลประโยชน์ของกรรมกร ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่เวลาผ่านไป 17 ปี (1932-1947) ระหว่างการประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 และครั้งที่ 10 ของสภาแรงงาน ทั้งๆ ที่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงในสภาพการจ้างงาน เช่นการยกเลิกการจำกัดเวลาการทำงานในกรอบ 7 ชั่วโมงต่อวัน การใช้วิธีรณรงค์ สตาคานอฟ เพื่อให้กรรมกรทำงานหนักขึ้น และการนำกฎหมายกดขี่แรงงานต่างๆ มาใช้ เมื่อการประชุมสภาแรงงานมีขึ้นในปี 1949 ปรากฏว่า 41.5% ของผู้แทนเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของสหภาพ 9.4% เป็นผู้เชี่ยวชาญ และเพียง 23.5% เป็นคนงานพื้นฐาน (7) ถ้าเทียบกับการประชุมครั้งก่อนที่มีผู้แทนที่เป็นคนงานพื้นฐาน 84.9% จะเห็นภาพชัด นอกจากนี้ สหภาพแรงงานจะไม่มีสิทธิในการกำหนดระดับค่าจ้างแต่อย่างใด และในปี 1934 ข้อตกลงร่วมกับฝ่ายแรงงานถูกยกเลิก (8)

*ผู้เขียนเขียนเมื่อปี 1948

(3) การปฏิเสธ สิทธิ พื้นฐานของกรรมาชีพ (หน้า 23)

ในปี 1931 กรรมกรไม่มีสิทธิ์ที่จะย้ายถิ่นออกจากเมืองเลนินกราด ถ้าไม่ได้รับอนุญาต จากวันที่ 27 ธันวาคม 1932 ระบบนี้ถูกนำมาใช้ทั่วรัสเซียโดยที่คนงานต้องถือหนังสือเดินทางเพื่อเดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง ระบบนี้ทารุณกว่าระบบภายใต้พระเจ้าซาร์เสียอีก

ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 1930 โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งต้องไม่จ้าง คนงานที่ออกจากโรงงานอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1931 เริ่มมีระบบสมุดทะเบียนงานซึ่งทะเบียนนี้จะบันทึกประวัติการทำงานของคนงาน ใครที่ต้องการสมัครงานจะต้องเอาสมุดทะเบียนงานของตนไปแสดงกับผู้อำนวยการงาน ความโหดร้ายของระบบนี้เห็นได้ชัดจากคำเขียนของวิคเตอร์ เซอร์ช “ทะเบียนงานจะบันทึกเหตุผลของการเปลี่ยนงานของคนงานทุกคน ผมรู้จักคนงานที่ถูกไล่ออกเพราะไม่ยอมอาสาสมัครทำงานในวันหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง และในทะเบียนงานของเขาจะเขียนไว้ว่าถูกไล่ออกเพราะทำลาย แผนการผลิต (9)

กฎหมายแรงงานวันที่ 15 พฤศจิกายน 1932 ระบุว่าถ้าคนงานคนใด ขาดงานเพียงวันเดียวโดยไม่มีเหตุผลดี จะถูกไล่ออก และจะถูกไล่ออกจากบ้านพักของโรงงานด้วย

ในวันที่ 4 ธันวาคม 1932 รัฐบาลได้ประกาศมาตราอีกมาตราหนึ่ง เพื่อยับยั้งปัญหาการขาดงาน คือให้ฝ่ายบริหารโรงงานเป็นผู้ควบคุมการแจกจ่ายอาหารและสิ่งจำเป็นทั้งหมด

(4) การกดขี่แรงงานภายใต้เงื่อนไขการผลิตและการลดความสำคัญของการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการ เพื่อเป้าหมายในการผลิตเพื่อสะสมทุน (หน้า 34)

ในระบบทุนนิยม การบริโภคของมวลชนเป็นเรื่องรอง และการผลิตเพื่อสะสมทุนเป็นเรื่องหลัก บางครั้งระดับการบริโภคและการผลิตเพื่อสะสม จะขยายตัวพร้อมๆกัน แต่ในเวลาอื่นระดับการบริโภคจะลดลงในขณะที่การ สะสมเพิ่มขึ้น สิ่งที่สำคัญคือในระบบทุนนิยมการสะสมมีฐานะสำคัญกว่าการบริโภค

ถ้าเราติดตามประวัติศาสตร์รัสเซีย หลังตุลาคม 1917 จะพบว่าก่อนที่จะมีแผนห้าปีแผนแรก การสะสมไม่ได้อยู่เหนือการบริโภค แต่หลังจากนั้นการสะสมมีฐานะเหนือกว่าอย่างโหดร้ายทารุณ

ตารางที่ (1)

ผลผลิตรวมจากภาคอุตสาหกรรม แบ่งเป็นสัดส่วนที่นำมาบริโภคและ ผลิตเพื่อสะสมต่อ
ปี19131927-81932193719401942(คาด)
สะสม44.332.853.357.86162.2
บริโภค55.767.246.742.23937.8
ที่มา: แผนพัฒนาเศรษฐกิจแผนแรก Moscow 1930 เล่ม I หน้า 132, แผนพัฒนาเศรษฐกิจแผนสอง Moscow 1932 เล่ม I หน้า 429
และPravda 19 ก.พ. 1941

(5) การสะสมทุนในขณะที่ความยากจนเพิ่มขึ้น (หน้า 38)

ก่อน 1928 ถึงแม้ว่ารัฐเริ่มมีรูปแบบของรัฐราชการ แต่การสะสมทุน ไม่ได้เกิดขึ้น พร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของความยากจน

ตารางที่ (2)

เปรียบเทียบดัชนีการสะสมทุนระหว่าง 1921-1928 (A)
กับดัชนีค่าจ้างค่าจ้างระหว่าง 1913 (ก่อนปฏิวัติ)-1929 (B)

ปี(A)ปี(B)
19211001913100
1922100.11922/347.3
1923100.51923/469.1
1924101.11924/585.1
1925102.21925/696.7
1927115.41926/7108.4
1928124.11927/8111.1
1928/9115.6
ที่มา Socialist Construction 1936 p.3, SN Prokoporicz, Russlands Volkswirtschaft unter den Sowjets, Zurich 1944 p.302

ฉนั้นแม้แต่ศาสตราจารย์ โพรคอพโพวิค อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล คาเรนสกี ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าเข้าข้างบอลเชอร์วิด ยอมรับว่าค่าจ้างจริงของคนงานรัสเซียระหว่างปี 1928-1929 สูงกว่าค่าจ้างก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถึง 15.6% ในขณะเดียวกันชั่วโมงการทำงานถูกตัด 22.3% และถ้าเรารวมสวัสดิการต่างๆ ค่าจ้างจะมีอัตราสูงกว่านั้นอีกด้วยซ้ำ แต่หลังการขึ้นมามีอำนาจของข้าราชการแดงภายใต้สตาลินอย่างสมบูรณ์ ก่อนที่จะมีแผนห้าปีแรกอัตราการเพิ่มของค่าจ้างเกือบจะไม่เกิดขึ้น ในขณะที่การสะสมทุนยังดำเนินไปโดยดี

สถานการณ์หลังจากที่นำแผนห้าปีแรกมาใช้เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง หลังจากนั้นการสะสมทุนขยายตัวอย่างรวดเร็วในขณะที่ฐานะทางเศรษฐกิจของ มวลชนตามไม่ทันและลดต่ำลงถ้าเทียบกับปี 1928

ตารางที่ (3)

การลงทุนทั้งหมด(A) และในแค่ภาคอุตสาหกรรม (B)
ในปีต่างๆ (พันล้าน รูเบิลส์)

ปี(A)(B)
1923/4-1927/826.54.4
1928/9-193252.524.8 แผนห้าปีแรก 1928
1933-1937114.758.6
1938-1942192.0111.9
ที่มา: แผนห้าปีแรก

ตารางที่ (4)

การเปลี่ยนแปลงของกำลังซื้อของค่าจ้างเมื่อเทียบกับราคาอาหารเริ่มที่ดัชชนี 100 ในปี 1913

ปีดัชนี
1913100 (ก่อนสงครามโลก)
1928151.4
1932129.7
193551.4
193764.9
194054.1
ที่มา : Prokopovicz 1944 อ้างแล้วหน้า 306 ดูตารางที่2

(6) ประสิทธิภาพของแรงงาน กับ กรรมกร (หน้า 47)

ในรัฐกรรมาชีพถ้ามีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานก็ต้องมีการเพิ่ม ฐานะความเป็นอยู่ของกรรมชีพควบคู่กันไป ในปี 1928 ตรอทสกี เคยพูดไว้ว่า “ระดับค่าจ้างของกรรมาชีพจะต้องเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของการวิวัฒนาการในทิศทางสังคมนิยม” และ “เครื่องวัดการพัฒนาของระบบสังคมนิยมคือการพัฒนาอันไม่หยุดยั้งของฐานะคนงานกรรมาชีพ” เราควรตรวจสอบดูว่าการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน และฐานะความเป็นอยู่ของกรรมาชีพรัสเซียมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

จากข้อมูลในตารางที่ (5) จะเห็นได้ว่าระหว่างการปฏิวัติ 1917 และปี 1928 ระดับของค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นจากระดับก่อนสงครามโลก (1914-18) ในขณะที่ ประสิทธิภาพแรงงานเพิ่มเล็กน้อย

ตารางที่ (5)

การเปลี่ยนแปลงของประสิทธิภาพแรงงาน(A)
เทียบกับระดับค่าจ้าง (B)

ปี(A)(B)
1913100100
1928106151.4
1936331.964.9
ที่มา A.A Arutinian & B.L. Markus (eds) Development of Soviet Economy, Moscow 1940 p.492 และ Prokopovicz อ้างแล้วหน้า 306

แต่ระหว่าง 1928 กับ 1936 ถึงแม้ว่าประสิทธิภาพการทำงานจะขยายตัวสามเท่า ค่าจ้างกลับลดลงมากกว่า 50%

ถ้าเราเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพแรงงานและระดับรายได้ของกรรมกรในประเทศอื่นๆ เทียบกับสภาพในรัสเซียก็จะต้องมีข้อสรุปว่าคล้ายๆ กัน

ในปี 1913 ประสิทธิภาพการทำงานของอุตสาหกรรมรัสเซียจะอยู่ในระดับ ประมาณ 25% ของประสิทธิภาพอุตสาหกรรมสหรัฐอเมริกา 35% ของเยอรมัน และ 40% ของระดับในอังกฤษ ข้อมูลจากคณะกรรมการกอสแพลนซึ่งอาจลำเอียงไปในด้านที่ชมรัสเซียบ้าง เสนอว่าในปี 1937 อุตสาหกรรมรัสเซียมีระดับประสิทธิภาพแรงงานประมาณ 40.5% ของระดับสหรัฐ และ 97% ของระดับ เยอรมัน (10) ถ้าเราคำนึงถึงความลำเอียงของสถิตินี้และปรับระดับประสิทธิภาพของรัสเซียลงให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น อุตสาหกรรมรัสเซียคงจะมีประสิทธิภาพแรงงานประมาณ 30% ของสหรัฐ และ 70%ของเยอรมันหรืออังกฤษ แต่ถ้าเทียบฐานะความเป็นอยู่ของกรรมาชีพรัสเซียจะพบว่าต่ำกว่ากรรมาชีพอังกฤษอย่างมาก

เช่นในอังกฤษคนงานสามรถใช้ค่าจ้างหนึ่งสัปดาห์ซื้อขนมปังในจำนวนสิบเท่าตัวของขนมปังที่คนงานรัสเซียซื้อได้ และถ้าเราใช้ข้อมูลจากสินค้าจำเป็นหลายชนิดมารวมกัน (11) จะพบว่าคนงานรัสเซียมีประสิทธิภาพการทำงานประมาณ 4/5 ของคนงานอังกฤษ แต่รายได้จะต่ำกว่าคนงานอังกฤษถึง 1/4 หรือ 1/3 เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราน่าจะสรุปได้ว่าถ้าคนงานอังกฤษถูกขูดรีด พี่น้องของเขาที่เป็นคนงานรัสเซียน่าจะถูกขูดรีดหนักยิ่งกว่า

หนังสืออ้างอิง

1. A Baykov, The Development of the Soviet Economic System, London 1946 p.116.

2. All - Union Communist Party (Bolsheviks) in Resolutions and Decisions of the Congresses, Conferences and Plenums of the Central Committee. Moscow 1941 6th edition Volume II page 811.

3. เรื่องเดียวกัน p.812

4. Pravda 11 มีนาคม 1937

5. V.I. Lenin “works” ภาษารัสเซีย 4th edition Vol XX pp.6-7

6. Wage Labour in Russia. Moscow 1924 p.160.

  Trade Unions in USSR 1926-1928 Moscow 1928 p.358

7. Trud 23 เมษายน 1949

8. G.N. Aleksandrov (ed) Soviet Labour Law, Moscow 1949 p.166

9. V. Serge, Russia Twenty Years After, New York 1937 p.68

10. USSR and The Capitalist Countries, Statistical Handbook, Moscow 1939. p.75-80.

11. Soviet Weekly, Supplement 18 December 1947 & Ministry of Labour “Labour survey of British workers” April 1947.

ลักษณะของรัฐกรรมาชีพ (หน้า 140)

เศรษฐกิจของรัฐกรรมาชีพกับเศรษฐกิจทุนนิยมมีรูปแบบที่คล้ายกันหลายอย่าง รัฐของชนชั้นกรรมาชีพซึ่งเป็นทางผ่านระหว่างทุนนิยมกับระบบคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์ที่ไม่มีรัฐ ย่อมจะมีส่วนที่มาจากซากเก่าของสังคมทุนนิยม และส่วนทีเป็นหน่ออ่อนของสังคมใหม่ องค์ประกอบสององค์ประกอบที่ขัดแย้งเหล่านี้จะผูกมัดด้วยกันในยุคแห่งทางผ่าน โดยที่องค์ประกอบจากอดีตถูกครอบงำโดยองค์ประกอบจากอนาคต

สิ่งที่รัฐกรรมชีพและทุนนิยมมีที่เหมือนกันคือการแบ่งแยกหน้าที่ในการทำงาน โดยเฉพาะการแบ่งแยกระหว่างแรงงานกายกับงานสมอง แต่สิ่งที่แยกรัฐกรรมาชีพออกจากระบบทุนนิยม คือการควบคุมการผลิตโดยชนชั้นกรรมาชีพ การควบคุมการผลิตโดยกรรมาชีพเป็นเสมือนสะพานแคบๆ ที่จะนำไปสู่การทำลายความแตกต่างระหว่างงานกายกับงานสมองซึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมคอมมิวนิสต์

รัฐกรรมาชีพและระบบทุนนิยมจะมีกลุ่มคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีตำแหน่งเหนือคนงานธรรมดา ถึงแม้ว่าในรัฐกรรมาชีพตำแหน่งนั้นจะมีความหมายต่างออกไป สิ่งที่สำคัญในการแยกรัฐกรรมาชีพออกจากระบบทุนนิยมคือ ผู้เชี่ยวชาญที่เคยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของทุนจะต้องเปลี่ยนมาเชื่อฟังนโยบายของรัฐ กรรมาชีพ ซึ่งเป็นนโยบายผู้ผลิตโดยรวม นี่คือสิ่งที่เริ่มทำลายตำแหน่งสูงต่ำในระบบการผลิต

ภายใต้ระบบรัฐกรรมาชีพชีวิตการทำงานจะต้องมีระเบียบวินัยในการทำงานเช่นเดียวกับในระบบทุนนิยม แต่แทนที่วินัยนี้จะเป็นสิ่งเดียวที่บังคับให้คนงานทำงานภายใต้ระบบทุน ในระบบรัฐกรรมาชีพจะมีสิ่งอื่นที่เข้ามามีความสำคัญมากขึ้น และระเบียบวินัยนี้จะขึ้นอยู่กับจิตสำนึกมากกว่าการให้โทษมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดไม่จำเป็นที่จะต้องมีระเบียบวินัยเลยเมื่อคนส่วนใหญ่มีการศึกษา และมีความสัมพันธ์แบบสมานฉันท์

ในรัฐกรรมาชีพและในเศรษฐกิจทุนนิยมจะมีการแลกเปลี่ยนสินค้าตามมูลค่าของแรงงานสะสมที่ใช้ในการผลิตสินค้าเหล่านั้น แต่ในรัฐกรรมาชีพ สินค้าเหล่านั้นเป็นผลมาจากการวางแผนนโยบายควบคุมการผลิตที่ชัดเจน แทนที่จะเป็นผลมาจากพลังของตลาดเสรีที่ไร้ทิศทาง และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การแลกเปลี่ยนสินค้าดังกล่าวเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการร่วมถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตทั้งหมดโดยผู้ผลิตพื้นฐาน

สิทธิของนายทุนภายใต้การปกครองของนายทุนคือสิทธิที่จะขูดรีด สิทธิในการแลกเปลี่ยนแจกจ่ายผลผลิตในรัฐกรรมาชีพจะเป็นสิทธิในรูปแบบ “สังคมนิยม” คือจะยอมรับว่าทุกคนจะได้รับผลผลิตไม่เท่าเทียมกันตามความ สามารถในการผลิต แต่ในเวลาเดียวกันทุกคนที่เป็นผู้ผลิตจะมีสิทธิเท่าเทียมกันในการครองปัจจัยการผลิต และสิทธิแลกเปลี่ยนจัดจ่ายผลผลิตในรัฐกรรมาชีพจะต้องเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดว่าจะไม่มีการขูดรีดใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้แล้วรัฐกรรมาชีพจะต้องพัฒนาระบบไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่คำนึงถึงความแตกต่าง ตามธรรมชาติระหว่างมนุษย์ ในที่สุด

ความสัมพันธ์ในรูปแบบวิภาษวิธี ระหว่าง ทุนนิยมโดยรัฐ กับรัฐกรรมาชีพ(หน้า 162)

ทุนนิยมโดยรัฐคือสิ่งตรงข้ามโดยสิ้นเชิงของรัฐกรรมาชีพ (หรือเผด็จการ ชนชั้นกรรมาชีพ)

ภายใต้ระบบทุนนิยมโดยรัฐระบบแรงงานรับจ้างอิสระถูกปฏิเสธไประดับหนึ่ง เนื่องจากแรงงานไม่มีสิทธิเลือกนายจ้าง แต่ภายใต้เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพแรงงานรับจ้างอิสระถูกปฏิเสธไประดับหนึ่งเพราะกรรมาชีพไม่ได้มีอิสระภาพจากปัจจัยการผลิตที่ตนเองครอบครอง ในเวลาเดียวกันแรงงานก็แปรสภาพไปจากสภาพเดิมที่เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง การขายแรงงานไม่เหมือนการขายแรงงานในระบบทุนนิยม เพราะภายใต้ระบบรัฐกรรมาชีพกรรมกรจะไม่ขายแรงงาน แต่จะนำแรงงานของตนมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนในสังคมที่มีลักษณะส่วนรวม ฉนั้นแรงงานจึงไม่ใช่สินค้าเพราะการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นระหว่างกรรมกรที่เป็นปัจเจกชนกับกรรมกรคนเดียวกันที่เป็นส่วนขององค์กรส่วนรวม และจะไม่เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างสองส่วนที่แตกต่างกัน

ระบบทุนนิยมโดยรัฐทำให้สหภาพแรงงานกับรัฐเข้าเป็นองค์กรเดียวกันจนความเป็นสหภาพแรงงานสูญหายไป แต่ในรัฐกรรมาชีพจะมีการเพิ่มบทบาทของสหภาพแรงงานถึงระดับสูงสุด

ระบบทุนนิยมโดยรัฐ ถ้าดูจากกรอบของประวัติศาสตร์ จะเป็นการทำให้ รัฐเป็นเผด็จการ แต่รัฐกรรมาชีพเป็นการสร้างประชาธิปไตยสูงสุดที่ไม่เคยมีมาก่อน ระบบทุนนิยมโดยรัฐ คือการกดขี่กรรมาชีพอย่างหนักโดยชนชั้นนายทุนที่คุมปัจจัยการผลิต แต่รัฐกรรมาชีพคือการกดขี่นายทุนโดยชนชั้นกรรมาชีพ ที่ควบคุมปัจจัยการผลิต

2. ทุนนิยมโดยรัฐในประเทศจีน

[บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่โทนี่ คลิฟ เขียนในวารสาร Socialist Review เมษายน ค.ศ. 1957 สมัยที่เหมายังมีชีวิตอยู่ ตีพิมพ์ใหม่ใน Tony Cliff (1982) “Neither Washington nor Moscow” หน้า 137] แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์

การบริโภคต้องก้มหัวให้การลงทุน

การที่สินค้าบริโภคมีความสำคัญน้อยกว่าการผลิตเพื่อสะสมทุน เห็นได้จากข้อมูลกำไรจากอุตสาหกรรมเบาระหว่าง 1952-1955 อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้กำไรมากกว่าจำนวนเงินที่ลงทุนประมาณ 10.8 ล้านยวน ส่วนที่เหลือได้ถูกนำมาลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก (Statistical Bulletin, Peking 14 November 1956)

ในเมื่อรายได้ของชาติต่ำ สัดส่วนของรายได้นี้ที่นำไปลงทุนจึงสูง มีการ คาดว่าในปี 1952 การลงทุนได้ใช้รายได้ของชาติประมาณ 15.7% ปี 1953 ใช้ 18.3% ปี 1954 ใช้ 21.6% ปี 1955 ใช้ 20.5% และปี 1956 ใช้ 22.8 % (Jen Min Jih Pao, People's 20 September 1956) อัตรานี้ไม่ต่ำกว่าอัตราการลงทุนในรัสเซียภายใต้ แผนห้าปีแผนแรกมากเท่าไร แต่ในเมื่อระดับรายได้ของประเทศจีนต่ำกว่าประเทศรัสเซียในเวลาเดียวกันถึง 3 เท่าตัว ภาระการลงทุน 20% ของรายได้ชาติ จะเป็นภาระที่สูงกว่า 30% ของรัสเซีย

ภาระในการผลิตอาวุธ

ภาระในการป้องกันประเทศใช้ 18.1% ของรายได้ชาติในปี 1952 ในปี 1953 ใช้ 15.9% ในปี 1954 ใช้ 15.2% และในปี 1955 ใช้ 16.2% (Wang Tzu-ying, OnPublic Finance, Ta Kung pao, Tientsin , 20 Jaunary 195) ถ้าเทียบกับรัสเซียในปี 1928 จะเห็นว่ารัสเซียใช้รายได้ชาติ 2% ในด้านการทหารเท่านั้น

ในเมื่อจีนมีภาระในการลงทุนทางอุตสาหกรรมและการลงทุนทางทหารสูง แน่นอนรายได้ของกรรมาชีพย่อมเพิ่มช้ากว่าอัตราการผลิต ซึ่งถือว่าการขูดรีดแรงงานในยุคนี้ค่อนข้างจะสูง และกำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน

ความจริงตรงนี้ถูกชูขึ้นในบทบรรณาธิการของ น.ส.พ. People's Daily ที่กล่าวว่า “ใน 1952 คนงานในรัฐวิสาหกิจผลิตมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 100 ล้านเหรียญประชาชนต่อหัว จากส่วนนี้ ถ้ายกเว้นเงิน 5 แสนเหรียญที่เป็นเงินเดือนคนงาน 94%เป็นทุนสะสมโดยรัฐ” (People's Daily, 13 December, 1953) ตัวเลขนี้ อาจสูงกว่าความเป็นจริงบ้างแต่เราต้องยอมรับว่าระดับการขูดรีดมีสูง

การขูดรีดเพิ่มขึ้น

ถ้าเราตรวจดูข้อมูลที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานกับรายได้ของคนงาน (จาก People's Daily, 19 June 1956) จะเห็นว่าอัตราการขูดรีดกำลังเพิ่มขึ้น

ปี อัตราการเพิ่มขึ้นของ อัตราการเพิ่มขึ้น

ตารางเปรียบเทียบอัตราเพิ่มขึ้น(%)ของประสิทธิภาพแรงงาน (A) และค่าจ้าง (B)ในจีน
ปี (A) (B)
1953135
1954152.6
1955100.6

ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่าสถิติเกี่ยวกับค่าแรงในตารางนี้ตรงกับความจริงแค่ไหน เพราะคาดว่าอาจสูงเกินไป

การขูดรีดชาวนายิ่งหนักกว่าการขูดรีดแรงงานอุตสาหกรรมอีก เราขอ ยกตัวอย่างมาคร่าวๆ เท่านั้นรองนายก เชนยู แจ้งว่าในหนึ่งปีระหว่างกรกฎาคม 1954 ถึง มิถุนายน 1955 รัฐได้เก็บภาษีในรูปแบบข้าวสารและผลิตผลอื่นๆ 52 ล้านต้น หรือ 30% ของผลิตผลเกษตรทั้งหมดของชาติ (New China News Agency,30 April 1955) ตัวเลขนี้ไม่น้อยกว่าสัดส่วนที่รัฐรัสเซียยึดจากชาวนาใน 1938 (33%) มากเท่าไร (A. Arina, Sotsialisticheskoe Selskokhozyaistvo, Moscow, December, 1939) สัดส่วนผลิตผลเกษตรที่ยึดจากชาวนาในจีนตอนนี้มากกว่าสัดส่วน ที่รัฐบาลกัวมินตั๋งยึดในอดีต คือ 30 ล้านตัน (Chen Han-seng 'Industrialisation Begins' China Reconstructs, Peking, Jan - Feb, 1953)

ลัทธิสตาลินในจีน

ระบบการปกครองแบบสตาลินมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้คือ การเน้นการผลิตเพื่อสะสมทุนเหนือการผลิตเพื่อบริโภค การบริการอุตสาหกรรมโดยระบบข้าราชการ การจำกัดสิทธิชนชั้นกรรมาชีพ การบังคับให้ชาวนาใช้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วม การแยกสังคมเป็นชนชั้นระหว่างผู้มีอภิสิทธิกับคนชั้นต่ำ และระบบเผด็จการแบบตำรวจ องค์ประกอบเหล่านี้ทุกองค์ประกอบ จะพบในจีนของเหมา และการที่จีนด้อยพัฒนากว่ารัสเซียก็มีผลทำให้มีการกดขี่ขูดรีดที่ยิ่งหนักกว่ารัสเซียภายใต้สตาลินเสียอีก

ภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นข้าราชการแดงของพรรคคอมมิวนิสต์คือการสะสมทุน และการสร้างชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมา (นตะวันตกหน้าที่นี้ทำโดยชนชั้นนายทุนเอกชน) ถ้าประเทศไหนมีทุนน้อยและมีชนชั้นกรรมาชีพที่มีขนาดเล็ก ระบบทุนนิยมโดยรัฐของข้าราชการจะฝังรากลึกลงไปและจะอยู่รอดได้นานกว่าที่อื่น

ฉนั้นเมื่อจีนด้อยพัฒนากว่ายุโรปตะวันออกและรัสเซีย และมีชนชั้นกรรมาชีพขาดเล็กที่แตกแยก แรงผลักดันที่จะผลักดันให้ชนชั้นข้าราชการแดงยอมยกผลประโยชน์ให้กรรมาชีพบ้าง หรือทำให้ข้าราชการกลัวการปฏิวัติ ย่อมจะอ่อนแอกว่าในรัสเซีย หรือยุโรปตะวันออก ดังนั้นถ้าไม่มีกระแสปฏิวัติจากข้างนอก จีนจะต้องผ่านระยะเวลาประมาณหนึ่งหรือสองรุ่นชีวิตคนจนกว่าชนชั้นกรรมาชีพ จะรวมตัวกันพอที่จะท้าทายชนชั้นข้าราชการ และชนชั้นปกครองจีนคงจะโหดร้ายและมีอายุยืนนานกว่าชนชั้นปกครองสายสตาลินของรัสเซีย

สาเหตุนี้เองเป็นสาเหตุที่รัฐบาลจีนที่ปักกิ่งไม่ชอบพวก “ปฏิรูป"ระบบ ในยุโรปตะวันออก และตบมือเมื่อ “ปฏิกิริยา เนกี"* ถูกทำลาย มีอีกสาเหตุหนึ่งที่เหมาต้องสนับสนุนแนวสตาลินอย่างสุดขั้ว ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับแนวทางในรัสเซียเอง สาเหตุนี้ผูกพันกับสาเหตุแรก คือในเมื่อเหมาต้องการพัฒนาให้จีนเป็นยักษ์ใหญ่ทางอุตสาหกรรมและทหาร เหมาไม่สามารถละเลยที่จะต่อต้านนโยบายในรัสเซียหรือยุโรปตะวันออกที่จะนำไปสู่การลดหย่อนการเน้นอุตสาหกรรมหนักเพื่อเพิ่มการบริโภคของประชาชน เพราะเหมาต้องการเหล็กกล้า เครื่องจักร และกังหัน ฯลฯ มากกว่าที่จะให้คนรัสเซีย หรือคนฮังการี่ มีบ้าน อาหารหรือเครื่องนุ่งห่มที่ดีขึ้น

จีนของเหมาเสมือนก้อนหินที่ใหญ่โต ซึ่งจะสามารถดำรงอยู่ได้ถึงแม้จะมี คลื่นต่อต้านลัทธิสตาลินซัดมาหลายครั้ง แต่ในที่สุดหลังจากเวลาหลายสิบปี ก้อนหินอันนี้คงจะเริ่มแตกสลายเนื่องจากการปฏิวัติล้มระบบสตาลินในยุโรป และเหตุการณ์ในจีนเอง

* (ผู้นำปฏิรูปฮังการี่ที่ถูกกองทัพรัสเซียปลดออกเมื่อปี 1956)

3. เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

โทนี่ คลิฟ (Tony Cliff) เป็นผู้พัฒนาทฤษฏี “ทุนนิยมโดยรัฐ” หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บทความนี้ของ คลิฟ แปลจากวารสาร Socialist Review ฉบับ ก.ค./ส.ค. 1998 โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ผ่าศพ

กำแพงเมืองเบอร์ลิน ระหว่างเยอรมันตะวันออกกับตะวันตก ล้มไปเมื่อประมาณสิบปีแล้ว หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลลัทธิสตาลินต่างๆ ในยุโรปตะวันออกและรัสเซียก็พังลงมาด้วย

ในปี 1947 ห้าสิบปีก่อนหน้านั้น ผมมีข้อสรุปว่าระบบการเมือง การปกครองภายใต้ลัทธิสตาลินเป็น “ระบบทุนนิยมโดยรัฐ” (State Capitalism) ผมเขียนหนังสือสองเล่มเพื่อพัฒนาทฤษฏีนี้ แต่แน่นอนเราไม่สามารถมีความมั่นใจในความคิดของเราเองได้นอกเหนือจากจะถูกทดสอบจากเหตุการณ์จริงใน ประวัติศาสตร์ ความล้มเหลวของระบบการปกครองแบบสตาลินในประเทศทั้งหลายทำให้เราทดสอบทฤษฏีนี้ได้แล้ว

ความล้มเหลวของรูปแบบการปกครองสตาลินเปิดโอกาสให้เราศึกษา ผ่าศพ ของมันได้ ถ้ารัสเซียเป็นประเทศสังคมนิยมจริง และรัฐลัทธิสตาลิน เป็นรัฐของชนชั้นกรรมาชีพจริง (ถึงแม้ว่าอาจเป็น “รัฐกรรมาชีพแบบเสื่อมโทรม หรือพิการ” ตามที่พวกสายลูกศิษย์ตรอทสกีเสนอ) การล้มสลายของระบบลัทธิ สตาลินต้องถือว่าเป็นการปฏิวัติซ้อนของฝ่ายปฏิกิริยาที่ทำลายรัฐกรรมาชีพ ในสถานการณ์แบบนี้กรรมาชีพรัสเซียและที่อื่น น่าจะออกมาต่อสู้ปกป้องรัฐดังกล่าว เหมือนกับที่กรรมกรย่อมต่อสู้เพื่อปกป้องสหภาพแรงงานเมื่อมีคนคิดจะทำลาย ไม่ว่าสหภาพนั้นจะอนุรักษ์นิยมหรือน้ำเน่าแค่ไหน ทั้งนี้เพราะ คนงานรู้จากประสบการณ์ประจำวันว่าสหภาพแรงงาน ไม่ว่าจะอ่อนแอแค่ไหน ก็ยังถือว่าเป็นองค์กรที่ปกป้องกรรมกรจากนายจ้าง ซึ่งดูได้จากการที่คนงานในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงาน โดยรวมแล้ว มักจะมีค่าจ้างสวัสดิการดีกว่าในสถานที่ทำงานที่ขาดสหภาพ

ต้องถามว่าเมื่อรัฐลัทธิสตาลินในรัสเซียและยุโรปตะวันออกล่มสลาย ไปในปี 1989-1991 คนงานออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องรัฐไหม? ไม่มีเลย! ไม่เกิดขึ้นเลย! คนงานในประเทศเหล่านี้หยุดนิ่ง มีความรุนแรงเกิดขึ้นน้อยกว่าในการนัดหยุดงานธรรมดาเสียอีก มีแห่งเดียวเท่านั้นที่มีคนออกมาต่อสู้กันอย่างรุนแรงเพื่อปกป้องรัฐเก่า นั้นคือประเทศโรมเมเนีย แต่คนที่ออกมาต่อสู้ปกป้องรัฐในครั้งนั้นคือ พวกตำรวจลับ “เซคิวริตาเต้"

ถ้าในรัสเซียหรือยุโรปตะวันออกมีการปฏิวัติซ้อนจริงๆผู้ปกครอง เก่าก็น่าจะถูกโค่นล้มไปหมด แต่แท้จริงแล้วเมื่อรัฐลัทธิสตาลินล้มไป ปรากฏว่า ชนชั้นผู้ปกครองเดิม (หรือที่เรียกว่า “โนเมนคลาตูรา” Nomenklatura ) ยังเป็นผู้นำ และผู้ปกครองต่อไป พวกนี้ไม่ต้องก้าวลงจากเวทีชั้นนำแต่อย่างใดเลย เพียงแต่ก้าว เข้าไปถือตำแหน่งในรูปแบบใหม่หลังการเปลี่ยนแปลง (เช่นเป็นนักธุรกิจเอกชน)

ฉนั้นต้องสรุปว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับคุณภาพลึกๆ เท่าไร ระหว่างรัฐลัทธิสตาลินในอดีต กับรัฐที่พบอยู่ในปัจจุบันในรัสเซียหรือยุโรปตะวันออก และถ้าทุกคนยอมรับว่าปัจจุบันนี้ประเทศเหล่านี้เป็นทุนนิยม ก็ต้องสรุปว่ารัฐลัทธิสตาลินในอดีตเป็นรัฐทุนนิยมด้วย

ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เกิดขึ้นอย่างไร?

การปฏิวัติรัสเซียเดือนตุลาคม 1917 ได้สถาปนาชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครองในรัสเซีย ผลกระทบจากการปฏิวัติครั้งนี้กว้างขวาง และใหญ่หลวงมาก เช่น มีการปฏิวัติกรรมาชีพเกิดขึ้นในเยอรมัน ออสเตรีย และ ฮังการี่ และในฝรั่งเศส อิตาลี่ และที่อื่นๆ มีการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีมวลชน มหาศาล เลนิน กับ ตรอทสกี เชื่อมั่นว่าชะตากรรมของการปฏิวัติรัสเซียขึ้นอยู่กับชัยชนะของการปฏิวัติเยอรมัน ถ้าไม่มีชัยชนะนี้คงไปไม่รอดแน่

เป็นที่น่าเศร้าใจที่การปฏิวัติเยอรมัน 1918-1923 ล้มเหลว สาเหตุหลักคือ การที่ขาดพรรคปฏิวัติที่มีผู้ปฏิบัติการที่มีประสบการณ์พอที่จะนำกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดได้ ในช่วงประวัติศาสตร์หลังจากนั้นเราเห็นการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพหลายต่อหลายแห่งที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้เพราะขาดพรรคปฏิวัติ เช่น สเปญ และ ฝรั่งเศส 1936 อิตาลี่ และ ฝรั่งเศส 1944-45 ฮังการี่ 1956 ฝรั่งเศส อีกใน 1968 ปอร์ตุเกส 1974-75 อีหร่าน 1979 และโปแลนด์ 1980-81

ความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติเยอรมัน 1923 มีผลกระทบล้นฟ้าในรัสเซีย มันนำไปสู่การเสียขวัญและการปรับตัวไปในทิศทางของฝ่ายขวา การรณรงณ์ของ สตาลินในการต่อต้านตรอทสกีในปี 1923 ทำได้เพราะเลนินป่วยหนักและทำอะไรไม่ได้ แต่ตรอทสกีเองอธิบายความสำเร็จของสตาลิน ว่ามาจากการที่การปฏิวัติรัสเซียถูกทอดทิ้งอยู่โดดเดี่ยวกลางกระแสทุนนิยมโลก และผมเห็นด้วยกับคำอธิบายนี้ ฉนั้นการมองรัสเซียในสมัยนั้นว่าเป็น “รัฐกรรมาชีพเสื่อมโทรม” ของตรอทสกีน่าจะถูกต้องสำหรับยุคนั้น

ในช่วงเวลาที่รัสเซียถูกรุกรานและเกิดสงครามกลางเมืองหลังการปฏิวัติ รัฐโซเวียดถูกกองทัพจากเยอรมัน อังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส อิตาลี่ ญี่ปุ่น โรเมเนีย ฟินแลนด์ แลทเวีย ลิทูเอเนีย และเตอรกี โจมตีดินแดน กองทัพทั้งหมดเหล่านี้และกองทัพรัสเซียขาวไม่สามารถเอาชนะกองทัพแดงได้ แต่รัฐปฏิวัติโซเวียดก็เอาชนะรัฐทุนนิยมทั่วโลกไม่ได้เหมือนกัน ฉนั้นในที่สุดแรงกดดันจากกระแสทุนนิยมโลกสามารถหล่อหลอมรัฐสตาลินไปในรูปแบบที่คล้ายรัฐในโลกทุนนิยมได้ ดังนั้นกฏการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ผลักดันเศรษฐกิจและกองทัพรัสเซียเหมือนกฎการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของทุนนิยมโลก

เมื่อสตาลินประกาศ ในปี 1928 ว่าในระยะเวลา 15 หรือ 20 ปี ข้างหน้ารัสเซียจะพัฒนาให้ทันประเทศตะวันตก ก็แปลว่ารัสเซียจะใช้เวลาเพียงระยะอันสั้นเท่านั้น เพื่อทำในสิ่งที่อังกฤษต้องใช้เวลา 100 ปีของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในอังกฤษก่อนที่จะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ ชนชั้นปกครองต้องใช้มาตรการต่างๆเป็นเวลา 300 ปีเพื่อทำลายสิทธิการใช้ที่ดินของชาวนารายย่อย ในรัสเซียสิทธิการใช้ที่ดินของชาวนารายย่อยถูกทำลายในเวลาเพียง 3 ปี โดยมาตรการที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นการสร้าง “กรรมสิทธิ์ร่วม"

เมื่อสตาลินเริ่มสร้างโครงสร้างอุตสาหกรรมหนักทางทหาร เขาต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ด้อยกว่าประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่ง แต่เขามีเป้าหมายในระดับเดียวกัน ถ้าเยอรมันภายใต้พวกนาซีมีรถถังและเครื่องบิน กองทัพที่สตาลินสร้างไม่สามารถสะท้อนระดับการพัฒนาของระบบการผลิตรัสเซียได้ (เช่นในปี1928ชาวนาไม่มีรถไถนาและต้องใช้ไถที่ทำด้วยไม้) แต่ต้องสะท้อนระดับการผลิตของเยอรมันผู้เป็นคู่แข่ง

การพัฒนาอุตสาหกรรมรัสเซียเน้นอุตสาหกรรมหนักเพื่อผลิตอาวุธ ชิ้นงานการวิจัยของผมชิ้นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือการเปรียบเทียบการผลิตภายใต้แผนการผลิตทุกห้าปี (ในรัสเซียเองสมัยสตาลินคงไม่มีใครกล้าทำ) ถ้าดูอุตสาหกรรมหนักเช่นเหล็กกล้า เป้าหมายการผลิตในห้าปีแรกคือ 10.4 ล้านตัน ห้าปีที่สอง 17 ล้าน ห้าปีที่สาม 28 ล้าน ห้าปีที่สี่(ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง) 25.4 ล้าน และห้าปีที่ห้า 44.2 ล้าน สิ่งที่ชัดเจนก็คือการผลิตมุ่งจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กรณีไฟฟ้า ถ่านหิน และ เหล็กธรรมดา ก็เช่นกัน

แต่พอมาดูผลิตผลที่ประชาชนบริโภคจะต่างกันโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอฝ้ายในแผนห้าปีสี่แผนแรกมีเป้าหมายดังนี้คือ 4.7 5.1 4.9 และ 4.7 พันล้านเมตรตามลำดับ ฉนั้นในระยะเวลา 20 ปีเป้าหมายเกือบจะไม่ได้เปลี่ยนเลย กรณีผลิตภัณฑ์ขนแกะยิ่งร้ายกว่านั้นคือ 270 227 177 และ 159 ล้านเมตร ตามลำดับ คือมีการลดปริมาณการผลิต 40% ในระยะเวลา 20 ปี

รัสเซียมีความสามารถสูงในการผลิตดาวเทียม “สปุตนิค” แต่ผลิตรองเท้าไม่ค่อยสำเร็จ ระบบทุนนิยมถูกครอบงำโดยความต้องการที่จะสะสมทุน บริษัทฟอร์ดต้องลงทุนเสมอ มิฉนั้นจะถูกเจนเนอร์รัลมอเตอร์สแซง การแข่งขันในระบบทุนบังคับให้แต่ละบริษัทแข่งกันลงทุนและสะสมทุน การแข่งขันระหว่างทุนบังคับให้แต่ละบริษัทเพิ่มอัตราการขูดรีดแรงงานด้วย การใช้อำนาจข่มเหงกดขี่กรรมกรเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกันกับการแข่งขันระหว่างทุน การใช้อำนาจข่มเหงกดขี่กรรมกรและชาวนาของรัฐบาลสตาลินในรัสเซียก็เช่นเดียวกัน การขูดรีดแรงงานซึ่งต้องรวมถึงระบบค่ายแรงงานบังคับ เป็นผลผลิตของการแข่งขันระหว่างทุนนิยมรัสเซียกับมหาอำนาจทุนนิยมอื่นๆ โดยเฉพาะเยอรมันภายใต้รัฐบาลนาซี

ข้อโต้เถียงกับทฤษฎีทุนนิยมโดยรัฐ

ข้อโต้เถียงที่มีผู้เสนอมาเพื่อปฏิเสธทฤษฎีทุนนิยมโดยรัฐ มีสามข้อ หลักคือ

(1) ข้อเสนอที่ว่าระบบทุนนิยมต้องมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล

"ในรัสเซีย รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมด ไม่มีปัจจัยของเอกชน ฉนั้นรัสเซียเป็นทุนนิยมไม่ได้"

ในปี 1847 พรูดอง นักอนาธิปไตยชาวฝรั่งเศสที่ค่อนข้างจะสับสน เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ "ปรัชญาแห่งความอับจน" ว่าระบบทุนนิยมคือระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ในหนังสือ "ความอับจนของปรัชญา" มาร์คซ์ โจมตีความคิดนี้โดยเขียนว่า “ทรัพย์สินส่วนบุคคลเพียงแต่เป็นความจริงในแง่ กฏหมายเท่านั้น” ถ้าทรัพย์สินส่วนบุคคลคือทุนนิยม ระบบทาสก็เป็นทุนนิยม ระบบขุนนางก็เป็นทุนนิยม เพราะในระบบเหล่านี้มีทรัพย์สินส่วนบุคคลทั้งนั้น รูปแบบของทรัพย์สินไม่ใช่เรื่องหลัก มันไม่ชี้ถึงกลไกภายใน ถ้ามีคนบอกเราว่า “ฉันมีขวดเต็มไปด้วยอะไรสักอย่าง” เขาไม่ได้บอกว่าอะไรสักอย่างคืออะไร มันอาจเป็นเหล้า น้ำ หรือของเสีย เนื่องจากสิ่งบรรจุต่างกับสิ่งที่ถูกบรรจุ เราสามารถมีสิ่งที่แตกต่างกันในภาชนะชนิดเดียวกันได้ ถ้าทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถบรรจุใน ระบบทาส ระบบขุนนาง และระบบทุนนิยมได้ ระบบทาส ก็มีขึ้นโดยที่มีทั้งทรัพย์สินส่วนบุคคลและทรัพย์สินรัฐได้ ในระบบขุนนางความ สัมพันธ์หลักจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางกับเกษตรกรในหมู่บ้าน แต่ในระบบนี้มีความสัมพันธ์อีกชนิดหนึ่งคือเกษตรกรที่ทำงานให้กับโบสถ์ การที่โบสถ์ ไม่ได้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลไม่ได้ทำให้ภาระของเกษตรกรเบาลงแต่อย่างใด

(2) ในระบบทุนนิยมไม่มีการวางแผน

"ในรัสเซียมีการวางแผนทางเศรษฐกิจแต่ในระบบทุนนิยมไม่มี"

ข้อเสนอนี้ไม่จริง ในระบบทุนนิยมจะมีการวางแผนในแต่ละหน่วยงาน แต่จะไม่วางแผนระหว่างหน่วยงาน ในโรงงานรถยนต์ของฟอร์ดมีการวางแผน เพราะเขาจะไม่ผลิตจำนวนเครื่องยนต์ต่อรถมากกว่าหนึ่งเครื่อง หรือลูกล้อสองลูกต่อหนึ่งคัน มีแผนรวมศูนย์ที่กำหนดว่าจะผลิตเครื่องยนต์กี่เครื่อง ลูกล้อกี่ลูก ในระบบนี้มีแผน แต่มีอนาธิปไตยระหว่างบริษัทฟอร์ดกับบริษัทเจนเนอรรัลมอเตอร์ส ในรัสเซียสมัยสตาลินมีแผนสำหรับเศรษฐกิจรัสเซีย แต่ไม่มีแผนระหว่าง เศรษฐกิจรัสเซียกับเศรษฐกิจเยอรมัน

(3) ถ้าเราจะทำให้ระบบในรัสเซียสมัยสตาลินดีขึ้น เราเพียงแต่ปฏิวัติการเมืองเท่านั้นก็สำเร็จ แต่ในระบบทุนนิยมต้องเปลี่ยนทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

ข้อเสนอนี้ไม่มีน้ำหนักเลยในเมื่อรัฐเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินทั้งหมด ในฝรั่งเศสในปี1830 มีการปฏิวัติทางการเมืองที่ล้มระบบกษัตริย์ และตั้งระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบของสังคมเลย เพราะผู้ถือครองทรัพย์สินคือนายทุนเอกชนไม่ใช่รัฐ แต่ในกรณีที่รัฐครอบครองทรัพย์ทั้งหมดการปฏิวัติการเมืองเป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจไปในตัวเอง

ความสำคัญของทฤษฏีทุนนิยมโดยรัฐ

ในช่วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมาลัทธิสตาลินเป็นที่ยอมรับในขบวนการแรงงานสากล ส่วนลัทธิสังคมนิยมปฏิวัติ หรือ ลัทธิตรอทสกี ถูกผลักดันออกไปอยู่ในหมู่คนส่วนน้อย การที่คนยอมรับลัทธิสตาลินมีผลกระทบอันใหญ่หลวงแต่หลังจากการล่มสลายของระบบลัทธิสตาลินในรัสเซียก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ใน ปี 1990 มีคนตั้งคำถามกับ เอริค ฮอบส์บอม นักประวัติศาสตร์ที่เป็นอาจารย์ใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษว่า “ในรัสเซียทำไมชนชั้นกรรมาชีพถึงปฏิวัติล้มรัฐกรรมาชีพ?” ฮอบส์บอม ตอบว่า “ก็เพราะเห็นได้ชัดว่ามันไม่ใช่รัฐกรรมาชีพ ทุกคนในโซเวียตก็รู้ว่ามันไม่ใช่ กรรมาชีพก็รู้ว่าไม่ใช่” แต่ทำไม ฮอบส์บอม รอมา 50 กว่า ปีถึงจะกล้าพูดแบบนี้?

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษ ชื่อ นินา เทมเบิล ก็พูดว่า “ฉันคิดว่าพรรคสังคมนิยมกรรมกร (พรรคของ โทนี่ คลิฟ ในอังกฤษ) ถูกต้องแล้ว พวกสำนักตรอทสกีก็คิดถูกแล้วเวลาเสนอว่ายุโรปตะวันออกไม่ใช่สังคมนิยม และฉันคิดว่าเราน่าจะยอมรับตรงนี้นานแล้ว

เวลาฟัง นินา เทมเบิล พูดก็พาให้เราคิดถามต่อว่าถ้าสันตะปาปาประกาศออกมาว่า “พระเจ้าไม่มีแล้ว” จะเกิดอะไรขึ้น สถาบันศาสนาคริสต์ นิกายแคทอลิค คงอยู่ไม่รอด ความสับสนในหมู่พรรคสายสตาลินขณะนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ในหมู่พวกเราที่เคยประกาศว่ารัสเซียเป็นทุนนิยมโดยรัฐ ก่อนที่โซเวียดจะพัง หลายๆปี เราสามารถสร้างสะพานไปสู่อนาคตและรักษาประเพณีมาร์คซิสต์แท้ของสังคมนิยมจากเบื้องล่างได้